"เรืองไกร"ร้อง กกต.ถอดถอน"ชัย"เหตุถือหุ้นบริษัทที่ได้รับประทานบัตร

ข่าวการเมือง Monday November 8, 2010 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ทำหนังสือร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้วินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ นายชัย ชิดชอบ ว่าจะต้องสิ้นสุดลงตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากนายชัย ได้โอนหุ้นบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัดซึ่ง เป็นคู่สัญญากับรัฐโดยได้รับประทานบัตรในการระเบิดหินให้แก่ นายชลอ ชิดชอบ บุตรชาย ขณะที่นายชัยดำรงตำแหน่ง ส.ส.

ในกรณีที่นายชลอ ชิดชอบ (บุตรชายตามชื่อในรายงานการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เมื่อเข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายชัย ชิดชอบ วันที่ 21 มกราคม 2551) ที่ได้เข้าไปถือหุ้นและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ภายหลังจากที่นายชัย ชิดชอบ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ปรากฏข้อเท็จจริงตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2551 ว่า นายชลอ ชิดชอบ ถือครองหุ้นจำนวน 74,998 หุ้น ในราคาหุ้นละ 100 บาท จากจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระทั้งหมดจำนวน 150,000 หุ้น ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการโดยรับประทานบัตรอันถือเป็นสัมปทานตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ภายหลังจากที่นายชัย ชิดชอบ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว (ในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 นายชัย แจ้งไว้ว่า ได้ถือหุ้นในบริษัท ศิลาชัย (1991) จำกัด ในส่วนของนายชัย ชิดชอบ จำนวน 75,000 หุ้น และคู่สมรส จำนวน 135,000 หุ้น )

ดังนั้น การถือครองหุ้นของนายชลอ ชิดชอบ ในบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้รับประทานบัตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ได้ต่ออายุประทานบัตรและประกอบกิจการต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ย่อมอาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 265 วรรคหนึ่ง (2) และมาตรา 265 วรรคท้าย ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้ ตามอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2551 นายเรืองไกร ได้เคยร้องเรียนเกี่ยวกับการถือหุ้นบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ (1991) ของนายชัย ต่อประธาน กกต. แต่ กกต.วินิจฉัยว่าบริษัท ศิลาชัยบุรีรัมย์ฯ เป็นคู่สัญญากับรัฐโดยได้รับเพียงประทานบัตรในการระเบิดหินในที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน จึงไม่เข้าลักษณะต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265(2)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ