"จุรินทร์"ขอเพิ่มตำแหน่งขรก.สาธารณสุขกว่า 3 หมื่นตำแหน่ง ในงบปี 54

ข่าวการเมือง Monday December 6, 2010 16:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ว่า เมื่อเร็ว ๆนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อขอให้ ก.พ.ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การจำกัดขนาดกำลังคนภาครัฐเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ตามที่มติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายภาครัฐ (คปร.) และขอให้กำหนดตำแหน่งข้าราชการพลเรือนเพิ่มในหน่วยงานสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยจัดบริการสุขภาพแก่ประชาชนทั่วประเทศ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในปีงบประมาณ 2554 จำนวนทั้งหมด 30,087 อัตรา ซึ่งไม่รวมตำแหน่งของพยาบาลวิชาชีพในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 3,000 คน ที่ได้กันไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้บุคลากร ให้มีความมั่นคงในตำแหน่งอาชีพ

นายบุณย์ธีร์ กล่าวว่า ตำแหน่งที่ขอเพิ่มใหม่ครั้งนี้ ประกอบด้วย ตำแหน่งเพื่อบรรจุเจ้าหน้าที่ที่สถานบริการได้จ้างไว้เป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยาบาลวิชาชีพที่สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่พ.ศ. 2549-2553 จำนวน 23,439 คน และมีนักเรียนทุนที่จะสำเร็จการศึกษาในปี 2554 อีกจำนวน 6,648 คน ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ซึ่งเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลจำนวน 2,769 คน และนักเรียนทุนที่ผลิตโดยสถาบันในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก จะเข้าทำงานในโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขอีก 3,879 คน

นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ยังได้ขอให้สำนักงาน ก.พ. เร่งพิจารณาการกำหนดตำแหน่งใหม่เพื่อที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อบรรจุพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ขอกันไว้จำนวน 3,000 อัตรา และกรณีของแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรคู่สัญญากระทรวงสาธารณสุขใน พ.ศ.2554 จำนวน 2,769 อัตรา เพื่อจะให้ทันการบรรจุแต่งตั้ง ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2554 ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงพยาบาลในสังกัด แต่มีสถานภาพเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวของหน่วยงาน ซึ่งไม่มีความมั่นคงในอาชีพ และกำลังคนกลุ่มนี้ทยอยไหลออกจากโรงพยาบาลทุกปี เนื่องจากมีงานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายยกระดับสถานีอนามัยทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จึงจะต้องมีการเพิ่มกำลังคนในระบบ เพื่อลดผลกระทบต่อการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต และพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการให้เกิดความเชื่อมั่นต่อประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ