ซินหัวเผย 10 อันดับข่าวดังปี 53 ข่าวน้ำมันรั่ว-คนงานเหมืองชิลี-แผ่นดินไหวเฮติติดท็อปเทน

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 30, 2010 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักข่าวซินหัวได้จัดอันดับ 10 ข่าวดังรอบโลกประจำปี 2553 โดยเรียงลำดับตามเหตุการณ์ดังนี้

1. จีนและกลุ่มอาเซียนเริ่มดำเนินการตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี

จีนและกลุ่มสมาคมประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เริ่มดำเนินการตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในวันที่ 1 ม.ค. ทั้งนี้ ด้วยจำนวนประชากรที่สูงถึง 1.9 พันล้านคนของจีน ทำให้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างจีนและอาเซียน หรือ CAFTA กลายเป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่สุดของโลกในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา โดยคิดเป็นมูลค่าทางการค้าประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2553 และมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ราว 6 ล้านล้านดอลลาร์

2. แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเฮติ

เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา เฮติได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวรุนแรง 7.3 ริกเตอร์ ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 200 ปีของเฮติ คร่าชีวิตประชาชนกว่า 200,000 คน และสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสาธารณูปโภคพื้นฐานในเฮติ

นอกจากนี้ แผ่นดินไหวยังส่งผลให้ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยราว 1.3 ล้านคน ซึ่งประชาชนเหล่านี้ยังคงอาศัยอยู่ในที่พักชั่วคราวในเมืองปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของเฮติ และพื้นที่โดยรอบ

เฮติเคยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์นับตั้งแต่ตรวจพบกรณีการติดเชื้อครั้งแรกในเดือนต.ค. และจนถึงขณะนี้การแพร่ระบาดของอหิวาต์ได้คร่าชีวิตประชาชนไปแล้วเกือบ 2,600 คน และมีผู้ป่วยอีกกว่า 12,000 คน

สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในเฮติรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว พายุเฮอริเคนถล่ม อหิวาต์ระบาด และความวุ่นวายทางการเมือง

3. สถานการณ์ตึงเครียดในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง

เรือรบเชียวนันของเกาหลีใต้ซึ่งสามารถรองรับน้ำหนัก 1,200 ตัน พร้อมด้วยลูกเรือ 104 คน อับปางลงที่บริเวณนอกชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลีเมื่อวันที่ 26 มี.ค. หลังจากเกิดเหตุระเบิดจนทำเรือแตกออกเป็นเสี่ยง และส่งผลให้ลูกเรือเสียชีวิต 46 คน

วันที่ 20 พ.ค. คณะทำงานด้านการตรวจสอบร่วมเปิดเผยในรายงานว่า เรือรบเชียวนันถูกยิงถล่มด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำของเกาหลีเหนือ แต่ทางเกาหลีเหนือปฏิเสธข้อกล่าวหาของเกาหลีใต้ และปฏิเสธว่าไม่มีส่วนพัวพันกับเหตุการณ์เรืออับปางในครั้งนี้

วันที่ 23 พ.ย. เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เปิดฉากยิงปะทะกันด้วยปืนใหญ่ที่บริเวณเกาะยอนเปียง ซึ่งใกล้กับพรมแดนที่เป็นข้อพิพาททางทะเล ส่งผลให้ชาวเกาหลีใต้เสียชีวิต 4 คน ขณะที่เกาหลีเหนือออกมาปกป้องการยิงปืนใหญ่ของตนเองว่า เป็นการตอบโต้เกาหลีใต้ที่ปฏิบัติการซ้อมรบ

นับตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.จนถึงวันที่ 1 ธ.ค. เกาหลีใต้และสหรัฐได้ปฏิบัติการซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ในบริเวณน่านน้ำฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรเกาหลี โดยสหรัฐได้นำเรือบรรทุกเครื่องบินจอร์จ วอชิงตัน ที่สามารถรับน้ำหนักได้ 97,000 ตันเข้าร่วมซ้อมรบในครั้งนี้ด้วย

วันที่ 3 ธ.ค. ญี่ปุ่นและสหรัฐ ร่วมซ้อมรบทางทหารครั้งใหญ่ที่ฐานทัพทั่วประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ยังมีการซ้อมรบทางอากาศ และทางทะเลด้วย ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือมีความตึงเครียดมากขึ้น

4. ภูเขาไฟระเบิดในไอซ์แลนด์ส่งผลการจราจรทางอากาศของยุโรปเป็นอัมพาต

ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล ในไอซ์แลนด์ เกิดปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ทำให้ควันเถ้าถ่านจากปล่องภูเขาไฟลอยขึ้นสู่อากาศด้วยความสูงหลายพันเมตร และปกคลุมน่านฟ้ายุโรปทั้งในฝั่งตะวันออกและตอนใต้ รวมถึงนอร์เวย์ โปแลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม อังกฤษ และรัสเซีย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเสียหายต่อการเดินทางทางอากาศทั่วยุโรปและส่งผลให้เกิดความโกลาหลไปทั่วโลก

ในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์หลังจากภูเขาไฟระเบิด สายการบินในหลายประเทศของยุโรปได้ยกเลิกเที่ยวบินกว่า 100,000 เที่ยว ซึ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าหลายพันล้านยูโร นอกจากนี้ อิทธิพลของภูเขาไฟระเบิดยังสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์และการท่องเที่ยวในไอซ์แลนด์

5. น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกจนกลายเป็นภัยพิบัติทางระบบนิเวศน์

วันที่ 20 เม.ย. เกิดเหตุแท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ของบริษัทบีพีระเบิดในอ่าวเม็กซิโก ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 11 คน เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้บีพีเพียรพยายาครั้งแล้วครั้งเล่าในการแก้ปัญหาน้ำมันรั่ว จนกระทั่งวันที่ 19 ก.ย. บีพีประกาศว่าสามารถอุดรอยรั่วที่บ่อน้ำมันมาคอนโดได้สำเร็จ ด้วยการใช้ซีเมนต์อุดรอยรั่วที่ก้นบ่อ

ตลอดระยะเวลา 5 เดือน มีน้ำมันรั่วไหลลงสู่อ่าวเม็กซิโกเป็นปริมาณมากถึงกว่า 4 ล้านบาร์เรล ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ และยังสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์ในอ่าวเม็กซิโก

6. สถานะทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มโดดเด่นขึ้น

วันที่ 25 เม.ย. คณะกรรมการด้านการพัฒนาของธนาคารโลกได้ตกลงเพิ่มสิทธิการออกเสียงในธนาคารโลกให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอีก 3.13% เป็น 47.19%

วันที่ 5 พ.ย. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประกาศว่า คณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟอนุมัติการปฏิรูปในด้านต่างๆ รวมถึงการโยกโควต้าออกเสียงในไอเอ็มเอฟกว่า 6 ประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ไปให้กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งการปฏิรูปในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ การปฏิรูปดังกล่าวยังทำให้จีนก้าวขึ้นเป็นผู้ที่มีสิทธิออกเสียงรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ในธนาคารโลก และเป็นสมาชิกรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ในไอเอ็มเอฟ ซึ่งทำให้จีนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้นในองค์กรการเงินระดับโลกทั้งสองแห่งนี้

7. วิกฤตหนี้สาธารณะลุกลามในยุโรป

วันที่ 27 เม.ย. สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนพี) ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของกรีซ 1 ขั้น ลงสู่สถานะขยะ ตามมาด้วยการลดอันดับความน่าเชื่อถือของโปรตุเกสและสเปน

วันที่ 2 พ.ค. กรีซยืนยันว่าจะรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป (อียู) และไอเอ็มเอฟ เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลาย

เดือนพ.ย. คณะรัฐมนตรีคลังอียูอนุมัติวงเงินช่วยเหลือไอร์แลนด์ซึ่งประสบปัญหาหนี้ ซึ่งทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า วิกฤตหนี้อาจลุกลามไปถึงโปรตุเกส สเปน และเบลเยียม นอกจากนี้ ในหลายประเทศของยุโรปได้ประกาศใช้มาตรการรัดเข็มขัดเพื่อลดยอดขาดดุลและหนี้สาธารณะ และยังทำให้ประชาชนไม่พอใจกับมาตรการดังกล่าว

8 นักวิทยาศาสตร์สหรัฐสามารถพัฒนาสิ่งมีชีวิตเซลเดี่ยวขึ้นเองเป็นครั้งแรก

วันที่ 20 พ.ย.นิตยสาร Science ตีพิมพ์ข่าวนายเคร็ก เวนเทอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวสหรัฐที่สามารถสร้างเซลล์แบคทีเรียจากดีเอ็นเอสังเคราะห์ ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในการสร้างสิ่งมีชีวิต และถือเป็นการส่งเสริมงานวิจัยด้านเทคนิคสังเคราะห์

9. คนงานเหมืองชาวชิลีได้รับความช่วยเหลือหลังจากติดอยู่ใต้ดินนาน 69 วัน

วันที่ 5 ส.ค. เกิดเหตุเหมืองทองแดงและทองคำในทะเลทรายทางตอนเหนือของชิลีระเบิด ส่งผลให้คนงานเหมือง 33 คนติดอยู่ใต้ดินลึก 700 เมตร ซึ่งทำให้พวกเขาต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชีวิตรอดจนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ คนงานเหมืองทั้งหมดได้รับความช่วยเหลือเป็นผลสำเร็จในวันที่ 13 ต.ค. โดยความร่วมมือของชาวชิลีและจากนานาประเทศ

10. มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของสหรัฐถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

วันที่ 3 พ.ย. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศใช้มาตรการ QE2 ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลอีก 6 แสนล้านดอลลาร์ โดยจะทยอยซื้อไปจนถึงไตรมาส 3 ของปี 2554 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ

การตัดสินใจดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า มาตรการ QE 2 ของสหรัฐจะยิ่งทำให้มูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอีก และจะทำให้มีสภาพคล่องทะลักเข้าสู่ประเทศต่างๆทั่วโลก จนทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น และกระตุ้นให้เม็ดเงินร้อนไหลบ่าเข้าไปยังประเทศอื่นๆด้วย นอกจากนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า มาตรการ QE2 จะบั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกและขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ