นายกฯหวังเขมรเจรจาทวิภาคี หลังUNSCเห็นพ้องไทยไม่ยกระดับปัญหาสู่เวทีโลก

ข่าวการเมือง Tuesday February 15, 2011 10:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หวังว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ วันที่ 22 ก.พ.นี้ กัมพูชาจะหันกลับมาพูดคุยถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชาได้ภายในระดับทวิภาคี หลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(UNSC) ได้มีความเห็นต่อเรื่องนี้ที่ต้องการให้ทั้ง 2 ประเทศได้เจรจากันเอง

"ผมหวังว่าในวันนั้น กัมพูชาจะตัดสินใจมาพูดคุยกับเราอย่างชัดเจนในการทำให้ทุกอย่างกลับสู่กระบวนการเดิม คือ การพูดคุยในระดับทวิภาคี" นายกรัฐมนตรี ระบุ

ส่วนแนวทางการดำเนินการของกัมพูชาต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่ากัมพูชายังยืนยันที่จะส่งเรื่องต่อไปยังศาลโลกหรือไม่

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้รับทราบความเห็นของ UNSC ผ่านการรายงานทางโทรศัพท์จากนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ โดยระบุว่าหลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว ได้แถลงแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยต้องการให้ทั้งไทยและกัมพูชาใช้ความอดทนอดกลั้นไม่ให้มีการปะทะหรือสู้รบกันเกิดขึ้นอีก และต้องการเห็นการหยุดยิงอย่างถาวรตามแนวชายแดน

ทั้งนี้จากผลที่ออกมาแสดงให้เห็นแล้วว่าประชาคมโลกต้องการให้ทั้ง 2 ประเทศแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาและใช้เหตุผลในการพูดคุยกัน

นายอภิสิทธิ์ ได้เรียกร้องให้กัมพูชาคำนึงถึงข้อคิดเห็นที่ออกมาจาก UNSC เพราะถือว่ากัมพูชาเองเป็นฝ่ายยื่นเรื่องไปยังองค์การสหประชาชาติให้พิจารณาในเรื่องนี้

"ผมคิดว่ากัมพูชาต้องฟัง เพราะว่าเป็นคนส่งเรื่องไปที่องค์การสหประชาชาติ เมื่อ UN บอกให้มาพูดคุยก็ต้องมาพูดคุย มิฉะนั้นจะไม่มีเวทีไหนที่จะไปได้ เพราะเมื่อไปแล้วก็ต้องเคารพแนวทาง กระบวนการตรงนี้" นายกรัฐมนตรี ระบุ

ส่วนการเจรจาหยุดยิงถาวรนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้คงไม่เป็นปัญหาเพราะคิดว่าสามารถพูดคุยกันได้ และหากกัมพูชาไม่พยายามจะยกระดับปัญหาขึ้นไปอีกก็เชื่อว่าเรื่องทุกอย่างจะจบ และรัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ไม่ให้มีการปะทะเกิดขึ้นอีกตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้าทำต่อไป คือการปลดชนวนปัญหาในส่วนของคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งเมื่อคืนได้มีโอกาสหารือกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ได้ชี้แจงให้ทราบว่าหลายประเทศมีความเข้าใจต่อปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชามากขึ้น

อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรี เห็นว่าการที่คณะกรรมการมรดกโลกจะส่งตัวแทนเข้ามาในพื้นที่พิพาทขณะนี้คงยังไม่เหมาะสม เพราะอาจเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก แต่เข้าใจว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะส่งผู้แทนพิเศษมาพูดคุยกับทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ซึ่งหากเป็นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ รัฐบาลไทยก็ยินดีและไม่ขัดข้อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ