ครม.รับทราบผลสำรวจความคิดเห็นปชช.ส่วนใหญ่ไม่สนใจรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยฯ"

ข่าวการเมือง Tuesday March 22, 2011 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล พ.ศ. 2553 ดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 1-17 ธันวาคม 2553 ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ

ผลการสำรวจที่สำคัญ ประกอบด้วย การรับทราบข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 81.9 ระบุว่ารับทราบ โดยประชาชนร้อยละ 18.1 ระบุว่าไม่ทราบ โดยประชาชนที่รับทราบระบุว่า รับทราบข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางโทรทัศน์ ร้อยละ 97.0 หนังสือพิมพ์ ร้อยละ 29.1 เจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 21.9 วิทยุ ร้อยละ 21.8 และบุคคลรอบข้าง ร้อยละ 14.2

ประเภทข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลที่ประชาชนให้ความสนใจ ได้แก่ นโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ร้อยละ 64.7 รองลงมา คือ ภารกิจของนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 53.8 และผลการดำเนินการของรัฐบาล ร้อยละ 35.7

การติดตามข้อมูลข่าวสารของประชาชนผ่านรายการของรัฐบาลที่เผยแพร่ โดยจำแนกตามประเภทรายการได้ดังนี้ การถ่ายทอดสดการแถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประชาชน ติดตามเป็นประจำ ร้อยละ 8.4 ติดตามบางครั้ง ร้อยละ 71.1 และไม่เคยติดตาม ร้อยละ 20.5, การถ่ายทอดสดกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐ ประชาชนติดตามเป็นประจำร้อยละ 12.2 ติดตามบางครั้ง ร้อยละ 80.2 และไม่เคยติดตาม ร้อยละ 7.6, รายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ประชาชนติดตามเป็นประจำ ร้อยละ 6.2 ติดตามบางครั้ง ร้อยละ 54.6 และไม่เคยติดตาม ร้อยละ 39.2 และรายการ “เจาะลึก ครม.” ประชาชนติดตามเป็นประจำ ร้อยละ 3.4 ติดตามบางครั้ง ร้อยละ 33.1 และไม่เคยติดตาม ร้อยละ 63.5

โครงการที่รัฐบาลดำเนินการและประชาชนส่วนใหญ่รับทราบข้อมูล ได้แก่ โครงการจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ 500บาท/เดือน ร้อยละ 99.5 รองลงมาคือ โครงการ

หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองรักษาโรค) ร้อยละ 98.9 และโครงการเรียนฟรี ร้อยละ 97.6 โดยแสดงความเห็นด้วยต่อนโยบายของรัฐบาลมากที่สุด คือ โครงการเรียนฟรี ร้อยละ 99.9 รองลงมา คือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองรักษาโรค) ร้อยละ 96.0 และโครงการจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ 500 บาท/เดือน ร้อยละ 95.4

การให้ความสำคัญต่อการรับทราบข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล โดยประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในระดับปานกลาง ร้อยละ 62.3 รองลงมาคือ ระดับน้อย ร้อยละ 18.0 ระดับมาก ร้อยละ 17.3 และไม่ให้ความสำคัญ ร้อยละ 2.4

ความเข้าใจในเนื้อหาสาระของนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาล โดยประชาชนมีความเข้าใจในระดับ ปานกลาง ร้อยละ 63.4 รองลงมาคือ ระดับน้อย ร้อยละ 18.6 ระดับมาก ร้อยละ 15.4 และไม่เข้าใจ ร้อยละ 2.6

ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 84.2 ระบุว่า ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลางถึงมาก ส่วนผู้ที่ระบุว่า มีความน่าเชื่อถือน้อยและไม่มีความน่าเชื่อถือ คิดเป็นร้อยละ 13.4 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ

ประชาชนที่รับทราบข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ร้อยละ 95.5 ระบุว่า มีประโยชน์ และร้อยละ 4.5 ระบุว่า ไม่มีประโยชน์

ประชาชนที่ไม่รับทราบข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ให้ความสนใจที่จะรับชม/รับฟัง รายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ร้อยละ 34.0 ไม่ให้ความสนใจ ร้อยละ 66.0 โดยผู้ที่ไม่ให้ความสนใจระบุเหตุผลสำคัญๆ ได้แก่ ไม่มีเวลาติดตาม ไม่ชอบการเมือง และไม่ชอบรัฐบาล เป็นต้น

ประชาชนที่ไม่รับทราบข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ให้ความสนใจที่จะรับชมรายการ “เจาะลึก ครม.” ร้อยละ 29.6 ไม่ให้ความสนใจ ร้อยละ 70.4 โดยผู้ที่ไม่ให้ความสนใจระบุเหตุผลสำคัญๆ ได้แก่ ไม่มีเวลาติดตาม ไม่ชอบดูโทรทัศน์ และไม่ต้องการรับรู้ เป็นต้น

ประชาชนที่รับทราบข้อมูลข่าวสารของรัฐบาล ร้อยละ 20.8 ระบุว่า รัฐบาลต้องปรับปรุงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร โดยเสนอแนะให้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อทุกชนิด ปรับปรุงทางด้านความน่าเชื่อถือ มีการนำเสนอสื่ออย่างโปร่งใส ถูกต้อง เป็นธรรม และต้องมีความชัดเจนด้านการบริหารงานของรัฐบาล เป็นต้น

จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์และชื่นชอบโครงการสำคัญที่รัฐบาลดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 ดังนี้ โครงการเรียนฟรี , โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทองรักษาโรค) , โครงการจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ 500 บาท/เดือน , โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน , กองทุนเงิน ให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) , 5 มาตรการ 6 เดือนลดค่าครองชีพ , โครงการประกันรายได้เกษตรกร , โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (โครงการชุมชนพอเพียง) , โครงการกองทุนหมู่บ้าน , แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง , โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP) และการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

อนึ่ง สำนักงานสถิติแห่งชาติให้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล ในรอบปีที่ผ่านมาเพื่อนำผลการสำรวจมาใช้ในการปรับปรุงยุทธศาสตร์การวางแผนการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 1 — 17 ธันวาคม พ.ศ.2553 โดยวิธีการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ครัวเรือนละ 1 คน กระจาย ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 5,800 คน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ