"จำลอง"ยันกลุ่มพธม.ไม่แตก แค่คิดเห็นต่างกันเชื่อปัญหาจบได้เร็วๆนี้

ข่าวการเมือง Monday May 2, 2011 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เปิดเผยว่า เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคใดมาเป็นรัฐบาล จะยังไม่มีการหยิบยกเรื่องการปกป้องอธิปไตยของประเทศมาดำเนินการอย่างเต็มที่ และคงปล่อยปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ยืดเยื้อต่อไป และทำให้ทหารไทย ประชาชนต้องบาดเจ็บ เสียชีวิต ต้องรวมทั้งปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ปัญหาข้าวยากหมากแพง เป็นปัญหาที่คนไทยต้องทนรับกรรมกันต่อไป เพราะการมาเป็นนักการเมืองและจับมือกันตั้งรัฐบาล เป็นของง่ายๆของนักการเมืองไทย ไม่ว่าประชาชนจะแบกปัญหาไหวหรือไม่ไหว ก็เพียงแต่หยิบมาอภิปรายไม่วางใจแล้วก็ยกมือกันให้เสียงข้างมากผ่านในสภาฯเท่านั้นก็จบเป็นรัฐบาลต่อไปได้ ไม่สนใจปัญหาของชาวบ้าน

“ถามว่าคนไทยจะยอมให้ระบบการเมืองเป็นเช่นนี้ต่อไปหรือ ดังนั้นพันธมิตรฯจึงต้องออกมารณรงค์โหวตโนให้ประชาชนอย่าไปเลือกนักการเมืองที่นายอภิสิทธิ์ บอกว่าเลวน้อยที่สุดเข้ามา เพราะขนาดเลวน้อยที่สุดแล้วยังโกงกินกันขนาดนี้" พล.ต.จำลอง กล่าว

ทั้งนี้เห็นว่าขณะนี้ประเทศไทย เหมือนคนป่วยหนัก เป็นโรคร้ายแรงทุกด้าน แม้แต่จะสูญเสียอธิปไตยก็ยังไม่มีนักการเมืองคนใดสนใจ เวลานี้คนไทยต้องการต้องการหมอและยาขนานที่ดีที่สุดมารักษาให้หายก่อน ไม่ว่าจะเป็นการเมืองนอกระบบหรือในระบบ ถ้าทำให้ประเทศไทยหายป่วย ตนเองพร้อมจะปักหลักสู้อยู่ที่นี่ เพื่อให้ได้มาของระบบการเมืองที่ดีกว่า แม้ว่าจะอยู่เหลือเพียงตัวคนเดียวจะสู้ไม่ถอย

พล.ต. กล่าวยืนยันว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้มีความแตกแยก มีเพียงความเห็นต่างระหว่างกลุ่มพันธมิตรฯกับพรรคการเมืองใหม่เท่านั้น ซึ่งคาดว่าปัญหาจะจบเร็วๆนี้ เพราะทุกคนร่วมต่อสู้กันมา มีอุดมการณ์เพื่อบ้านเมืองคล้ายคลึงกันอยู่บางส่วน อย่างไรก็ตาม ตนเองพร้อมเคารพการตัดสินใจของทุกฝ่าย ส่วนการชุมนุมที่นี่พร้อมเปิดรับทุกคนเพราะมีความเชื่อตรงกันในเรื่องการปกป้องอธิปไตยของประเทศที่ต้องทำโดยเร็วที่สุดหากไม่ทำจะสูญเสียดินแดนอีกมากมาย

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในหัวข้อ “ถ้าเลือกตั้งวันนี้คุณจะเลือกพรรคใด" ทางหน้าเว็บไซต์ของเอ็มเอสเอ็น ประเทศไทย (th.msn.com) ว่า มีประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการเลือกตั้งโดยออกไปใช้สิทธิกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองใดหรือโหวตโน ขณะนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ขณะที่ประชาชนที่ประสงค์จะใช้สิทธิเลือกพรรคเพื่อไทย 28% และพรรคประชาธิปัตย์มีเพียง 20% แสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ชูธงโหวตโนของพันธมิตรฯเป็นสิ่งที่ตรงใจประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องการนักการเมืองเลวมาปกครองประเทศโดยผ่านระบบการเลือกตั้งและต้องการให้เกิดปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่เพื่อนำไปสู่ระบอบใหม่ที่ดีกว่าที่จะสามารถได้นักการเมืองที่ดีและรัฐบาลที่ดีจะมาบริหารประเทศเพื่อจะเป็นทางออกและทางรอดของประเทศได้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะยุบสภา และจัดการเลือกตั้งวันใด รวมทั้งเลือกตั้งไปแล้วจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หรือในการเลือกตั้งหากมีการทุจริตโดยการซื้อคะแนนเสียงกันอย่างมโหฬาร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถจัดการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายยอมรับได้หรือไม่ ทั้งยังมีอุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้อีกมากมาย

อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่าพันธมิตรฯไม่เคยมีแนวคิดในการเรียกร้องทหารให้ออกมาปฏิวัติรัฐประหาร แต่ต้องการปฏิรูปการเมืองเพื่อได้คนดี คนเก่งมาบริหารประเทศ และเป็นสิ่งที่คนไทยรอคอยมาตลอด

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีเตรียมนำเรื่องการแต่งตั้งทนายชาวฝรั่งเศสเพื่อต่อสู้ในศาลโลก จากการที่ฝ่ายกัมพูชายื่นฟ้องในส่วนปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ตนไม่ทราบเหตุผลว่าเหตุใดกระทรวงการต่างประเทศจึงต้องไปนำชาวฝรั่งเศสที่เป็นชาติเจ้าของอาณานิคมของประเทศกัมพูชา และยืนคู่กับกัมพูชามาโดยตลอด มาเป็นทนายของรัฐบาลไทย และขอตั้งข้อสังเกตว่า เป็นความจงใจของรัฐบาลหรือไม่ที่ต้องการแพ้คดีในศาลโลกอีกครั้ง เพื่อเป็นการฟอกความผิดให้กับรัฐบาลในอดีตที่ไปลงนามเอ็มโอยู 2543 และรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาตลอดมา เพราะหากไทยแพ้คดีอีก รัฐบาลจะได้อ้างว่าไม่ได้เป็นเพราะเอ็มโอยู 2543 แต่เป็นเพราะปัญหาเขตแดน แต่ถ้าไทยชนะคดีรัฐบาลก็จะอ้างได้อีก เอาเป็นความดีความชอบของรัฐบาลเองที่เตรียมข้อมูลหลักฐานไปต่อสู้ในศาลโลกจนชนะ

ทั้งนี้เชื่อว่าจะไม่เกิดประโยนช์ต่อเขตแดนประเทศไทยใดๆทั้งสิ้น หากประเทศไทยได้สิทธิในตัวแผ่นดินใต้ปราสาทพระวิหารเหมือนเดิม เพราะธรรมนูญของศาลโลกได้ระบุว่า หากจะแย้งคำพิพากษาศาลโลกที่ตัดสินไปแล้วต้องมีข้อมูลใหม่ภายในระยะเวลา 10 ปีแต่คำตัดสินตั้งแต่ปี 2505 เลยกำหนดระบะเวลาดังกล่าวไปแล้ว และยังระบุในท้ายคำตัดสินด้วยว่าไม่เกี่ยวข้องกับเส้นเขตแดน เพราะศาลโลกตัดสินเฉพาะอธิปไตยเหนือตัวปราสาทเท่านั้น ดังนั้นรัฐบาลไทยไม่ควรไปต่อสู้หรือรื้อฟื้นคดีขึ้นมาอีก แต่หากจำเป็นต้องต่อสู้ ต้องใช้สิทธิในการไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลกแทนการต่อสู้ในเนื้อหาของคดี ซึ่งเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ