In Focusหลากคำถาม หลายความรู้สึก... จากจุดจบ “บิน ลาเดน"

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 4, 2011 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในยามค่ำคืนก่อนรุ่งอรุณของวันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม ณ เมืองอับบอตตาบัด เมืองเล็กๆล้อมรอบด้วยหุบเขาทางตอนเหนือของกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน ขณะที่ชาวเมืองส่วนใหญ่กำลังหลับใหลอยู่นั้น นายโซฮาอิบ อัตฮาร์ (Sohaib Athar) ไม่รู้ตัวเลยว่าเขากำลังทำหน้าที่ผู้สื่อข่าวจำเป็นผ่านการส่งข้อความทางทวิตเตอร์ของเขาที่ใช้ชื่อว่า ReallyVirtual

“เฮลิคอปเตอร์บินอยู่เหนืออับตาบัดในเวลา 1.00 น. (เป็นเรื่องผิดปกติ)" ตามด้วยข้อความต่อมาว่า "หน้าต่างบานใหญ่สั่นสะเทือนส่งเสียงดังลั่นอับตาบัด ผมหวังว่าคงไม่มีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น :-S"

นอกจากนั้น นายอัตฮาร์ ซึ่งประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษาไอที ยังได้รายงานข้อมูลที่ได้รับจากเพื่อนร่วมเมืองบางคนที่กำลังออนไลน์อยู่เช่นกัน โดยเขาทวีตว่า เฮลิคอปเตอร์ไม่ใช้ของปากีสถาน และระบุว่า เกิดความผิดพลาดทางเทคนิค เฮลิคอปเตอร์ได้ตกลงมา

เขาไม่รู้เลยว่า ข้อความสั้นๆนาทีต่อนาทีทางทวิตเตอร์ของเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ จนกระทั่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้แถลงผ่านการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ให้ชาวอเมริกันทั่วประเทศ รวมถึงประชาชนทั่วทุกมุมโลก ได้รับทราบถึงปฏิบัติการสังหาร “โอซามา บิน ลาเดน" เมื่อเวลา 23.35 น. ของวันอาทิตย์ที่ 1 พ.ค. ตามเวลาท้องถิ่นในกรุงวอชิงตัน ดีซี (10.35 น. วันจันทร์ตามเวลาประเทศไทย)

“สวัสดีครับ คืนนี้ ผมมีเรื่องที่จะรายงานแก่ชาวอเมริกันและชาวโลกว่า สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินปฏิบัติการสังหารโอซามา บินลาเดน ผู้นำอัลกออิดะห์และผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก" ผู้นำสหรัฐประกาศที่ทำเนียบขาว

ทันทีที่ข่าวการตายของบินลาเดนได้รับการประกาศยืนยัน หลากหลายความรู้สึก ทั้งยินดี โล่งใจ โกรธแค้น หวาดหวั่น ก็ได้บังเกิดขึ้นในจิตใจของผู้คนทั่วโลก พร้อมด้วยคำถามตามมาอีกมากมายเกี่ยวกับการตายของชายผู้ที่สหรัฐต้องการตัวมากที่สุด...

บินลาเดนถูกสะกดรอยได้อย่างไร?

การสะกดรอยเพื่อไปถึงแหล่งกบดานของบินลาเดนคว้าน้ำเหลวตลอดมา แต่สุภาษิตที่ว่า "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" ใช้ได้เสมอ เมื่อหน่วยข่าวกรองสหรัฐสามารถสืบพบเบาะแสที่หลบซ่อนตัวของบินลาเดนจนได้ โดยผ่านทางคนส่งข่าวประจำตัวคนหนึ่งของบินลาเดน ซึ่งแหล่งข่าวทางการทูตเปิดเผยกับ CNN ว่า คนส่งข่าวผู้นี้เป็นชายชาวคูเวตชื่อว่า "อาบู อาเหม็ด" โดยหน่วยข่าวกรองสหรัฐได้ข้อมูลคนส่งข่าวผู้นี้มาจากนักโทษผู้หนึ่งที่ถูกควบคุมตัวในคุกลับของสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ (CIA) ในยุโรปตะวันออก

จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 2553 อาเหม็ดก็ได้นำพาเจ้าหน้าที่สหรัฐไปสู่ป้อมปราการขนาดใหญ่ในเมืองอับบอตตาบัด ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้กับเจ้าหน้าที่สหรัฐ เพราะปรากฏว่าสถานที่ที่บินลาเดนใช้อาศัยหลับนอนนั้น ไม่ใช่ถ้ำน้อยใหญ่ตามพรมแดนอัฟกานิสถาน-ปากีสถานอย่างที่เคยเข้าใจกันมา(แบบผิดๆ) แต่กลับเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นด้วยประตู 2 ชั้นและกำแพงสูงกว่า 5 เมตรที่เสริมรั้วลวดหนามด้านบน ที่น่าตกใจอีกประการก็คือบ้านหลังนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวิทยาลัยการทหารที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำการและมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ออกไปเพียง 100 เมตร

แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สหรัฐก็ปักใจเชื่อในข้อมูลข่าวกรองที่มีอยู่ว่า บินลาเดนอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหญ่ดังกล่าวร่วมกับสมาชิกครอบครัวหลายคน

"พวกเขามั่นใจ และความมั่นใจก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ งานข่าวกรองครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งอื่นๆ สิ่งที่เราเห็นจากที่พักอาศัยแห่งนี้แตกต่างไปจากสิ่งที่เราเคยเห็นมาก่อน" จอห์น เบรนแนน ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายของโอบามากล่าว

จากนั้นปลายเดือนเมษายน 2554 ประธานาธิบดีโอบามาประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้น และในที่สุดก็ได้มีคำสั่งอนุมัติแผนปฏิบัติการภายใต้การควบคุมดูแลของนายลีออน แพเนตตา ผู้อำนวยการ CIA ในวันที่ 29 เมษายน ซึ่งนำไปสู่การลงมือฆ่าบินลาเดนได้ในที่สุด

เกิดอะไรขึ้นในอับตาบัด ปฏิบัติการมีรายละเอียดอย่างไร?

เจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาวเปิดเผยรายละเอียดของปฏิบัติการสังหารผู้นำอัลกออิดะห์ว่า ปฏิบัติการเริ่มเมื่อเวลาประมาณ 1.15 น.ของวันที่ 2 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่นในปากีสถาน โดยเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำได้นำหน่วยรบพิเศษไปยังอาณาเขตบ้านพักที่เป็นเป้าหมาย (แต่เฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งตกลงเพราะมีปัญหาที่เครื่องกล ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สหรัฐได้ทำลายเครื่องทิ้งในเวลาต่อมา) จากนั้นหน่วยรบได้แบ่งออกเป็น 2 ทีม ทีมหนึ่งเข้าไปในบ้านของบินลาเดน โดยไล่จากชั้นแรกไปจนถึงชั้น 3 ซึ่งบินลาเดนอยู่ที่ชั้นนี้ ขณะที่อีกทีมเคลียร์พื้นที่ในอาคารอีกหลังหนึ่ง ซึ่งมีอีกหลายครอบครัวอาศัยอยู่

คาร์นีย์เผยด้วยว่า บินลาเดนไม่มีอาวุธในมือ แต่ก็พยายามต่อต้าน เจ้าหน้าที่สหรัฐจึงได้ตัดสินใจยิงกระสุน 2 นัดที่ศีรษะและหน้าอกของผู้นำอัลกออิดะห์จนตายคาที่ ท่ามกลางการยิงปะทะต่อสู้จากสมุนคนอื่นๆที่มีอาวุธ ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีก 4 คน โดยเป็นชาย 3 คน และผู้หญิง 1 คน ซึ่งรายงานระบุว่าเป็นเมียของบินลาเดน

การจู่โจมครั้งนี้สำเร็จอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 40 นาที จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงนำร่างของบินลาเดนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ (ซึ่งเข้าไปแทนลำที่เกิดเหตุขัดข้อง) ออกไปจากน่านฟ้าปากีสถาน

กองทัพปากีสถานรู้หรือไม่ว่าบินลาเดนหลบซ่อนตัวอยู่ใต้จมูกของตัวเอง?

แม้เป็นเรื่องยากที่บ้านพักหลังนี้ซึ่งสร้างเสร็จในปี 2548 จะไม่เป็นที่สะดุดตา เนื่องจากขนาดที่ใหญ่กว่าบ้านหลังอื่นๆในบริเวณเดียวกันมาก แถมยังล้อมรอบด้วยกำแพงสูงและรั้วลวดหนาม แต่กองทัพปากีสถานก็ไม่ทราบเรื่องนี้

นักวิเคราะห์หลายรายกำลังตั้งคำถามว่า อาคารใหญ่ที่มีการรักษาความปลอดภัยหนาแน่นขนาดนี้ ได้ถูกสร้างขึ้นในเมืองที่เต็มไปด้วยทหารรักษาการและถูกใช้เป็นที่หลบซ่อนตัวของบินลาเดนมาเป็นเวลานานหลายปีได้อย่างไรโดยที่ไม่มีใครในกองทัพปากีสถานสังเกตเห็น ซึ่งคำถามดังล่าวเป็นการสนับสนุนข้อกังขาก่อนหน้านี้ที่ว่า สมาชิกบางคนของหน่วยข่าวกรองของกองทัพปากีสถาน หรือ ISI กำลังอารักขาผู้ก่อการร้ายเบอร์หนึ่งของโลกอยู่

ต่อคำถามที่ว่า ทำไม ISI จึงไม่เข้าตรวจสอบบ้านพักหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่ ISI คนหนึ่งได้เผยกับ BBC ว่า อาคารดังกล่าวได้เคยถูกบุกตรวจค้นเมื่อครั้งที่อยู่ในระหว่างก่อสร้าง เพราะทางการเชื่อว่า นายอาบู ฟาราจ อัล-ลิบบี แกนนำคนหนึ่งของอัลกออิดะห์หลบซ่อนอยู่ แต่นับตั้งแต่นั้น บ้านหลังดังกล่าวก็ไม่ได้อยู่ในวิถีเรดาร์ของ ISI และทางหน่วยงานก็รู้สึกอับอายต่อความล้มเหลวด้านข่าวกรองนี้

ด้านประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี แห่งปากีสถาน ได้กล่าวปกป้องประเทศของตนเองด้วยการปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่า หน่วยความมั่นคงของปากีสถานให้ที่พักพิงแก่นายบินลาเดน โดยชี้ว่า ในทางกลับกัน ทางการปากีสถานได้ร่วมมือกับสหรัฐจนทำให้เข้าถึงแหล่งกบดานของบินลาเดนได้ในที่สุด

ปากีสถานมีส่วนร่วมในปฏิบัติการสังหารบินลาเดนหรือไม่?

สหรัฐอเมริกายืนยันว่าได้วางแผนและดำเนินปฏิบัติการนี้ตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตนเอง และได้แจ้งให้ปากีสถานทราบเรื่องนี้หลังจากเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐได้บินออกจากน่านฟ้าของปากีสถานแล้ว

เหตุผลหนึ่งที่สหรัฐอุบเงียบเรื่องข้อมูลนี้ ไม่บอกแม้แต่ประเทศพันธมิตรอย่างอังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลียก็คือ “ความปลอดภัยของปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ของเรา จึงมีเพียงกลุ่มคนจำนวนน้อยมากภายในรัฐบาลของเราเองเท่านั้นที่รู้เรื่องปฏิบัติการนี้" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของสหรัฐกล่าวกับผู้สื่อข่าว

แต่นักวิจารณ์บางส่วนก็ยังคงไม่เชื่อว่า เครื่องบินของสหรัฐจะสามารถเล็ดลอดระบบป้องกันทางอากาศของกองทัพปากีสถาน จนสามารถรุกล้ำเข้าไปถึงเกือบใจกลางปากีสถาน

ด้านรัฐบาลปากีสถานไขข้อสงสัยในประเด็นนี้ว่า สหรัฐเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการปลิดชีพบินลาเดนเพียงลำพัง โดยทางการปากีสถานไม่เคยรู้ระแคะระคายในเรื่องนี้มาก่อนและไม่ได้มีส่วนร่วมปฏิบัติการด้วย อย่างไรก็ดี ปากีสถานได้ให้ความร่วมมือกับสหรัฐตลอดมา ด้วยการช่วยเหลือในด้านข้อมูลข่าวกรองจนนำไปสู่การจับตายครั้งนี้

แน่ใจได้อย่างไรว่าบินลาเดนตายแล้ว?

เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวว่าหลังจากปฏิบัติการบุกจู่โจมสำเร็จลงด้วยดี ร่างของบินลาเดนได้ถูกนำไปยังอัฟกานิสถานเพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอ ซึ่งผลการตรวจยืนยันว่า ศพที่นำมามีดีเอ็นเอตรงกันเกือบ 100% กับสมาชิกในครอบครัวของบินลาเดนที่ทางสหรัฐมีตัวอย่างเก็บไว้ นอกจากนั้น ภาพถ่ายของศพยังถูกส่งให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ใบหน้าและรูปร่าง ด้วยการเปรียบเทียบกับภาพอื่นๆของบินลาเดน

ทำไมต้องทิ้งศพบินลาเดนลงในทะเล?

สหรัฐได้นำศพของบินลาเดนขึ้นไปประกอบพิธีทางศาสนาบนดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินคาร์ล วินสัน โดยศพได้รับการชำระล้างอย่างสะอาด จากนั้นนำไปห่อบนผ้าขาวและถุงบรรจุศพที่มีการถ่วงน้ำหนัก มีการอ่านบทไว้อาลัยเป็นภาษาอาหรับ ก่อนทิ้งร่างลงทะเล ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดดังกล่าวดำเนินการภายใน 24 ชั่วโมงตามบัญญัติของศาสนาอิสลาม

สำหรับสาเหตุที่ทำให้สหรัฐตัดสินใจทิ้งร่างของบินลาเดนในทะเลนั้น เป็นเพราะไม่มีประเทศไหนแสดงความเต็มใจหรือสามารถที่จะรับศพของเขาไปฝังในแผ่นดินของประเทศตนได้ ประกอบกับสหรัฐไม่ต้องการให้หลุมฝังศพของบินลาเดนกลายเป็นอนุสรณ์สถานสำหรับสักการะบูชาของเหล่าสาวก

ทำไมสหรัฐจึงไม่ยอมเปิดเผยภาพศพของบินลาเดน?

สหรัฐตระหนักดีถึงแรงกดดันให้มีการเปิดเผยหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่า บินลาเดนตายแล้วจริงๆ ซึ่งหลายฝ่ายก็เชื่อว่า สหรัฐกำลังวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเผยแพร่ภาพศพ โดยภาพดังกล่าวอาจน่าสยดสยอง ไม่น่าดู หรืออาจจะเละจนมองไม่ออก เพราะมีบางรายงานระบุว่า เขาถูกยิงที่ศีรษะ บริเวณเหนือตาซ้าย ซึ่งส่งผลให้กะโหลกศีรษะบางส่วนแตกออก

นอกจากนี้ ทำเนียบขาวยังต้องชั่งน้ำหนักในประเด็นที่ว่า ภาพดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจให้กับโลกอาหรับ และกระตุ้นอารมณ์รุนแรงของเหล่าสาวกบินลาเดน

อิบราฮิม ฮูเปอร์ โฆษกของสภาความสัมพันธ์อเมริกัน-อิสลาม แสดงความเห็นว่า เขาไม่เห็นถึงประโยชน์หรือด้านบวกของการเปิดเผยภาพศพบินลาเดน

“เหตุผลเดียวที่จะเผยแพร่ภาพเหล่านั้นก็คือเพื่อล้มล้างบรรดาทฤษฎีสมคมคิดทั้งหลายแหล่ แต่ถึงกระนั้นผู้ที่ไม่เชื่อว่าเขาตายแล้ว ก็จะยังคงเชื่อเช่นนั้นต่อไป และจะบอกว่ารูปพวกนั้นเป็นของปลอม"

ใครคือผู้นำคนใหม่ของอัลกออิดะห์?

นักวิเคราะห์เกือบทุกสำนักคาดการณ์ว่า บุคคลที่จะมานั่งบัลลังก์ผู้นำเครือข่ายอัลกออิดะห์คนต่อไปคงหนีไม่พ้นนายไอมาน อัล-ซาวาฮีรี ผู้นำหมายเลข 2 ของกลุ่ม วัย 59 ปี โดยพิจารณาจากบทบาทของนายอัล-ซาวาฮีรีที่ระยะหลังเป็นคนออกแถลงการณ์ผ่านสื่อ ประณามรัฐบาลสหรัฐและชาติพันธมิตร โดยในวิดีโอเทปล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว นายอัล-ซาวาฮิรีได้เรียกร้องให้ชาวมุสลิมลุกขึ้นต่อสู้กับกองกำลังของนาโตและสหรัฐที่กำลังโจมตีลิเบียอยู่

สำหรับประวัติของนายอัล-ซาวาฮีรีนั้น นับว่าน่าสนใจไม่น้อย เขาเป็นถึงศัลยแพทย์จักษุ ซึ่งมีชาติกำเนิดที่ดีในครอบครัวเศรษฐีชาวอียิปต์ โดยพ่อเป็นแพทย์ผู้โด่งดัง ส่วนปู่เป็นหนึ่งในผู้นำศาสนานิกายสุหนี่ อย่างไรก็ตาม เขาฝักใฝ่ในกลุ่มมุสลิมสุดโต่งขณะอายุยังน้อย และนั่นก็เป็นจุดพลิกผันให้เขาเข้าร่วมกลุ่มกับพวกผู้ก่อการร้ายในเวลาต่อมา

เป็นที่เชื่อกันว่า แพทย์ประจำตัวและมือขวาของนายบินลาเดนผู้นี้นี่เองที่เป็นมันสมองสำคัญให้กับกลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งรวมถึงเป็นตัวการวางแผนถล่มอาคารเวิลด์เทรดและอาคารเพนตากอน เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึงราว 3,000 คน

ทั้งนี้ ทุกวันที่ 11 กันยายนของทุกปี ผู้สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดจะมารวมตัวกันที่ Ground Zero หรือจุดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของตึกแฝด แต่ปีนี้พวกเขาได้มาชุมนุมกันเร็วกว่าปกติ

ไดแอน มาสซารอน ซึ่งสูญเสียสามีจากเหตุการณ์ 9/11 ได้ออกมาชุมนุมร่วมกับชาวอเมริกันอีกเป็นจำนวนมากทันทีที่ทราบข่าวการตายของบินลาเดน "ฉันรู้สึกโล่งใจมาก หลังจาก 10 ปีผ่านไป ในที่สุดความยุติธรรมก็บังเกิด" เธอกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว และเมื่อถูกถามว่ากังวลถึงผลกระทบจากการตายของบินลาเดนหรือไม่ เธอตอบว่า "ฉันไม่คิดว่าจะมีอันตรายรออยู่เบื้องหน้า ฉันจะใช้ชีวิตตามปกติ ฉันเคยประสบกับช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่ฉันจะต้องกลัวอีกต่อไป"

ด้านไมเคิล คาร์โรล พนักงานดับเพลิงวัย 27 ปี ผู้สูญเสียบิดาซึ่งเป็นพนักงานดับเพลิงเช่นกัน กล่าวว่า "ผมไม่เคยรู้เลยว่าจะรู้สึกตื่นเต้นไปกับการตายของใครบางคนได้ และแล้ววันนี้ก็มาถึง ผมรู้สึกดีจริงๆ"

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความปีติยินดีของผู้คนส่วนใหญ่ ดอนนา มาร์ช โอคอนเนอร์ ผู้สูญเสียบุตรสาวซึ่งกำลังตั้งครรภ์ไปในเหตุการณ์เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว กลับมองไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเฉลิมฉลองการตายของบินลาเดน

"โอซามา บินลาเดนตาย เช่นเดียวกับลูกสาวของฉัน ความตายของเขาไม่สามารถทำให้ลูกสาวของฉันฟื้นคืนมาได้"

ขณะที่ นายอัตฮาร์ ซึ่งกลายเป็นคนแรกของโลกที่รายงานสดปฏิบัติการสังหารบินลาเดน (แบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่) ได้ทวีตข้อความเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า "เขายังคงนั่งออนไลน์อยู่ ที่นี่ (อับตาบัด) ยังคงไม่มีไฟฟ้า และสงครามยังไม่จบ โลกก็ยังเหมือนเดิม"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ