พธม.เชื่อเหตุระเบิดหวังกดดันใช้พรบ.ความมั่นคง จี้จับตัวผู้ก่อเหตุลงโทษ

ข่าวการเมือง Wednesday June 1, 2011 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า กรณีคนร้ายปาระเบิดใส่ด้านหลังเวทีชุมนุมฯ เมื่อช่วงกลางดึกที่ผ่านมาจนผลให้มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย ในจำนวนนี้มีอาการสาหัส 1 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างเข้ารับการผ่าตัด และอาการยังน่าเป็นห่วง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าคำมั่นสัญญาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าจะรักษาความปลอดภัยให้อย่างเต็มที่ หลังเปิดพื้นที่จราจรบริเวณด้านหน้ากระทรวงศึกษาธิการนั้นไม่เป็นความจริง

หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำการบริเวณพื้นที่ชุมนุมกลับหายไปทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ถึง 2 ครั้ง เพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่มาดูแลรักษาความปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง แม้หลังเกิดเหตุแล้วก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียง 2 นายเท่านั้นที่มาประจำอยู่ด้านหลังเวที

"รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิชุมนุมอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61, 70 และ 71 สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการทำงานด้านความมั่นคง รวมไปถึงตลอดหลายปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลนี้ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดเหตุลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ, เหตุคนร้ายใช้ปืนเอ็ม 79 ยิงเข้าใส่พื้นที่ชุมนุมฯ เมื่อปี 51 และการชุมนุมบริเวณสนามหลวงเมื่อปี 52 รวมไปถึงการมีบุคคลในกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงใช้อาวุธสงคราม จนลามไปถึงการก่อเหตุเผาบ้านเผาเมือง จนถึงบัดนี้ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ ทั้งยังสนับสนุนการปล่อยตัวแกนนำคนเสื้อแดงออกมาข่มขู่ประชาชนอีกด้วยจึงเป็นความล้มเหลวในด้านความมั่นคงของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับการทำหน้าที่ของตำรวจและรัฐบาลในการติดตามผู้ก่อเหตุมาลงโทษให้ได้ ตนเองขอตั้งข้อสังเกตว่าผู้ก่อเหตุต้องการที่จะข่มขู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และสร้างสถานการณ์ โดยการข่มขู่นั้นก็มาจากประเด็นที่ภาคประชาชนพยายามเคลื่อนไหวทั้งเรื่องการป้องกันอธิปไตยของชาติ และการรณรงค์โหวตโน ซึ่งตรงนี้ประชาชนมีวิจารณญาณตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้เสียประโยชน์ ส่วนการสร้างสถานการณ์นั้นก็ต้องการใส่ร้ายคู่แข่งขันทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง เพื่อเป็นข้ออ้างในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายรัฐในการเลือกตั้ง หรือบางกลุ่มอาจมองว่าสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งในส่วนนี้เชื่อว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก

"ไม่ว่าจะเป็นการข่มขู่หรือสร้างสถานการณ์ ไม่สำคัญเท่ากับหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำให้ประชาชนมีความมั่นใจ และสามารถใช้สิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งต้องจับกุมคนร้ายให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เกิดเหตุที่มีกล้องวงจรปิดเป็นจำนวนมาก ที่สามารถติดตามเส้นทางของคนร้ายได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจมาน้อยเพียงใด เพราะหากไม่มีการติดตามจับกุม ก็คงเป็นไปได้มากขึ้นที่ประชาชนจะคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นการข่มขู่โดยรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง หากต้องการสลัดข้อกล่าวหา ก็ต้องจับคนร้ายมาให้ได้" นายปานเทพ กล่าว

โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ทั้ง 2 รุ่นจะประชุมในเวลา 13.00 น.เพื่อพิจารณาว่าจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป โดยจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้(2 มิ.ย.)

"อยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบว่าที่ผ่านมามีทั้งคำสัญญาของนายกฯ และหนังสือที่ภาคประชาชนประสานของกำลังเจ้าหน้าที่ให้มาดูแล แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น จึงต้องถือว่าตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยที่ความผิดสำเร็จแล้ว หากเกิดเหตุการณ์แล้วยังไม่ทำหน้าที่ในการติดตามคนร้าย เราก็จำเป็นที่ต้องเดินหน้าดำเนินคดีความทางอาญาต่อไป" นายปานเทพ กล่าว

ด้านนายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ประสิทธิภาพของตำรวจไทย หากเอาจริงเอาจัง ก็เชื่อว่าจะสามารถนำผู้กระทำผิมาลงโทษได้ เพราะจากพฤติกรรมการก่อเหตุที่อุกอาจ ใช้พาหนะรถจักรยานยนต์ ที่มีกล้องวงจรปิดตลอดเส้นทาง รวมไปถึงศูนย์จราจรของตำรวจที่สามารถตรวจสอบได้ว่าคนร้ายมาจากไหน และหลบหนีไปทางไหน ซึ่งหากสามารถติดตามจับกุมมาได้ ก็จะสามารถได้รับข้อเท็จจริงโยงไปถึงผู้บงการ และเป้าประสงค์ในการก่อเหตุได้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ