พธม.เผยรบ.ไม่มีสิทธิ์อ้างผลงานลาออกจากมรดกโลก ชี้ภารกิจยังไม่จบต้องรอรบ.หน้า

ข่าวการเมือง Wednesday June 29, 2011 14:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กล่าวถึงกรณีที่ไทยถอนตัวออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลกว่า ล่าสุดพบว่าฝ่ายรัฐบาลพยายามที่จะตีกิน โดยอ้างว่าเป็นผลงานของตัวเองบ้าง รัฐบาลชุดต่อไปจะปกป้องอธิปไตยหรือจะยกแผ่นดินให้กับกัมพูชาหรือไม่ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค.

"กรณีดังกล่าวถือเป็นความบกพร่องของทุกรัฐบาลที่ผ่านมา บางรัฐบาลก็กอดเอ็มโอยู 2543 มาตลอดและทำให้กัมพูชาเอาไปอ้างแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร และรวมถึงบางรัฐบาลก็เป็นคนทำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาและสนับสนุนการขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเอง"นายปานเทพ กล่าว

นอกจากนี้ กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร พรรคประชาธิปัตย์ตอนเป็นฝ่ายค้านคัดค้านแม้กระทั่งการขึ้นทะเบียนก็ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าแม้แต่ขอบตัวปราสาทนั้นก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ แต่บัดนี้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตลอด 2 ปีครึ่งที่ผ่านมากลับแค่เลื่อนให้พ้นจากรัฐบาลตัวเองเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาให้ลุล่วงไปเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลาออกจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก เมื่อตรวจสอบเอกสารแล้วอาศัยอนุสัญญามรดกโลกข้อ 35 ซึ่งถูกกำหนดไว้ว่าการลาออกของนายสุวิทย์ คุณกิตติ จะมีผล 1 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลชุดหน้าก็จะเป็นผู้กำหนดว่าจะออกจริงหรือไม่ จะถอนตัวหรือไม่ในท้ายที่สุด นั่นหมายถึงว่ายังคงมีความเสี่ยงอยู่

"แม้จะถือว่าเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศในการประกาศลาออก แต่เราถือว่ารัฐบาลเองมีข้อบกพร่องที่ทำให้เรื่องนี้ไม่ยุติในรัฐบาลของตัวเอง ด้วยการลาออกตั้งแต่ปีที่แล้ว ถ้าการลาออกตั้งแต่ปีที่แล้วทุกอย่างจะจบภายในปีนี้ ก็คือไทยถอนตัวออก ไม่ตกเป็นผู้อยู่ภายใต้อาณัติของมติคณะกรรมการมรดกโลก แต่การถอนตัวช้าทำให้ไม่สามารถที่จะทำให้รัฐบาลไปอ้างเป็นผลงานของตัวเองได้เลย นอกจากจะถูกมองได้เพียงแต่ว่า เป็นเพียงมาตรการส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดหน้าไปดำเนินการต่อ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้านไม่เคยเห็นด้วย แต่กลับส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดหน้า เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยไม่ควรจะหลงกลในมาตรการโฆษณาชวนเชื่อ ในช่วงระยะเวลาตอนนี้"นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้ตนทั้งทางโทรทัศน์และเว็บไซต์เฟซบุ้ค โดยกล่าวว่า บัดนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า เอ็มโอยู 2543 หรือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา ปี 2543 ซึ่งรัฐบาลเคยอ้างมาโดยตลอดว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการขัดขวางมรดกโลก

"บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องเท็จ การเลื่อนแผนบริหารจัดการปีที่แล้วเกิดขึ้นเพราะมาตรการขู่ว่าจะลาออกจากมรดกโลก ไม่ใช่เอ็มโอยู 2543 มาตรการปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ไม่เป็นผลงานของเอ็มโอยู 2543 เลย ไม่มีใครเชื่อ มีแต่มองว่าเอ็มโอยู 2543 หมายถึงไทยและกัมพูชากำลังทำหลักเขตแดนตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ซึ่งไม่กระทบพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหาร ดังนั้นจึงถือว่าสะท้อนถึงความล้มเหลวของเอ็มโอยู 2543 โดยตรง

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะโอกาสความเสี่ยงที่การลาออกจากมรดกโลกจะสูญเปล่ามีโอกาสเกิดขึ้น 3 กรณี คือ ประเทศไทยไม่ผลักดันทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ปล่อยให้มีการป้องกันและอนุรักษ์ตามมติคณะกรรมการมรดกโลกครั้งล่าสุด ซึ่งหมายถึงมีผู้เกี่ยวข้องเป็นชาติที่ 3 มาข้องเกี่ยวด้วย ถ้าตราบใดไม่ผลักดันออกและปล่อยปะละเลย ก็ไม่ต่างจากการสูญเสียดินแดนเพิ่มเติม โดยคราวนี้มีชาติที่สาม มาปะปนกับชาวกัมพูชาด้วย ยิ่งจะเป็นการผลักดันยากที่สุด จะทำให้การลาออกครั้งนี้สูญเปล่า

กรณีที่สอง เนื่องจากการลาออกช้าไป 1 ปี หากรัฐบาลไทยได้ส่งไม้ต่อไปยังรัฐบาลชุดหน้า แล้วรัฐบาลชุดหน้าไม่ถอนตัว หรือประกาศไม่ยืนยันในการลาออก ก็จะเป็นผลทำให้ประเทศไทยไม่ได้ถอนตัวในท้ายที่สุดอีก 12 เดือนข้างหน้า นี่คือความเสี่ยงในชั้นที่สองที่รัฐบาลไม่ทำให้จบแล้วส่งไม้ต่อ ให้กับรัฐบาลชุดหน้า

และกรณีที่สาม ถ้าหากไทยไปยอมรับศาลโลก หรือรับอำนาจศาลโลกในการวินิจฉัยไม่ว่ามาตรการคุ้มครองชั่วคราว หรือการตีความต่อไปในพื้นที่รอบๆ ปราสาทพระวิหาร หากเป็นโทษต่อประเทศไทยเมื่อไหร่ก็จะเกิดผลต่อเนื่องในเวทีมรดกโลกว่า สิ่งที่อนุมัตินั้นมรดกโลกไม่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยใดๆ ทั้งสิ้น เป็นพื้นที่ของกัมพูชา ประเทศไทยลาออกก็ไม่มีผลประโยชน์อะไร

“ดังนั้นเราจึงเห็นว่าสิ่งที่ต้องทำมากที่สุดในเวลาติอนนี้ คือ ยืนยันการลาออกโดยรัฐบาลชุดนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลชุดหน้าก็จะไม่ดำเนินการถอนการลาออกครั้งนี้ และยืนยันการลาออกต่อไปให้ครบ 12 เดือน ใช้มาตรการทางทหาร ทางเศรษฐกิจ ทางมหาดไทย และทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันชาติที่สามเข้ามาปะปน เข้ามาป้องกันและอนุรักษ์พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร และประการสุดท้ายก็คือ ต้องประกาศและยืนยันไม่รับอำนาจศาลโลกตั้งแต่วันนี้"

นายปานเทพ กล่าวว่า ภารกิจการถอนตัวออกจากมรดกโลกยังไม่จบ เริ่มต้นแค่การลาออก เลื่อนส่งไม้ต่อถึงรัฐบาลชุดหน้าเท่านั้น รัฐบาลชุดนี้จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะอ้างถึงผลงานของตัวเองได้รับชัยชนะ ประชาชนต่างหากได้รับชัยชนะ เพราะการเรียกร้องนี้เกิดขึ้นมาเป็นปีแล้ว แต่รัฐบาลถือว่าทำการช้าไปเป็นปี แล้วส่งไม้ต่อให้รัฐบาลชุดหน้าเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ