โพลล์เผยปชช.หวังรัฐบาล"ปู"อยู่ครบวาระ ไม่หนุนนายทุน-เสื้อแดงเป็นรมต.

ข่าวการเมือง Sunday August 7, 2011 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องโผคณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ 1 ในสายตาของสาธารณชน ช่วงโค้งสุดท้าย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,114 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3 - 6 สิงหาคม 2554 พบว่า จากการเปรียบเทียบผลสำรวจสองครั้งที่ผ่านมา นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนที่ถูกศึกษาในตำแหน่งรัฐมนตรีด้านงานประชาสัมพันธ์คือ ร้อยละ 61.7 ในครั้งที่ 1 และร้อยละ 60.8 ในครั้งที่ 2 ในขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นในตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกระทรวงกลาโหมจากร้อยละ 54.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.9 ส่วน พล.ต.ท.ชัชจ์ กุลดิลก ได้รับเสียงสนับสนุนร้อยละ 57.6 ในการดูแลกระทรวงยุติธรรม นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ได้รับเสียงสนับสนุนให้ดูแลกระทรวงมหาดไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.5

นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนให้ดูแลด้านเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 41.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.3 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มสูงขึ้นเช่นกันจากร้อยละ 56.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 57.1 ในการดูแลระบบงานตำรวจ และนายประเสิรฐ บุญสัมพันธ์ ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนเพิ่มสูงขึ้นในการดูแลกระทรวงพลังงานจากร้อยละ 46.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 56.2 นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ (ด้านเศรษฐกิจ) จากร้อยละ 52.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 53.9 นายโอฬาร ไชยประวัติ (ด้านเศรษฐกิจ) ได้ร้อยละ 53.6

พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ได้รับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนให้ดูแลกระทรวงคมนาคม ร้อยละ 50.8 นอกจากนี้ นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ (ด้านกระทรวงต่างประเทศ) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 50.2 นายกิตติรักษ์ ณ ระนอง (ด้านเศรษฐกิจ) จากร้อยละ 54.2 มาอยู่ที่ร้อยละ 49.0 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ (ด้านเศรษฐกิจ) ได้ร้อยละ 44.3 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ (ด้านเศรษฐกิจ) ได้ร้อยละ 42.8 นายอิสระ ว่องกุศลกิจ (ด้านเศรษฐกิจ) ได้ร้อยละ 40.7 และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง (กระทรวงสาธารณสุข) ได้ร้อยละ 35.4

ทั้งนี้ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.7 ไม่เห็นด้วยที่จะให้กลุ่มนายทุนมาเป็นรัฐมนตรี แต่ถ้ากลุ่มนายทุนเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.8 ก็จะเปลี่ยนใจหันมาเห็นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ากลุ่มนายทุนเหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ก็จะได้รับการเห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 79.6 ในตำแหน่งรัฐมนตรี

ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนเพียงร้อยละ 25.4 เห็นด้วยที่จะให้กลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงเป็นรัฐมนตรี แต่ถ้ากลุ่มแกนนำคนเสื้อแดงเหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ก็จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเป็นร้อยละ 45.3 และถ้ากลุ่มแกนคนเสื้อแดงเหล่านั้นเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ก็จะมีผู้เห็นด้วยเพิ่มขึ้นอีกเป็นร้อยละ 57.3 ในตำแหน่งรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม มีประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 42.7 ยังคงไม่เห็นด้วย

ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 41.0 ระบุอยากให้โอกาสรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ทำงานจนครบวาระ ในขณะที่ร้อยละ 7.8 ระบุระหว่าง 2 — 3 ปี ร้อยละ 20.8 ระบุระหว่าง 1 — 2 ปี ร้อยละ 17.2 ระบุระหว่าง 6 เดือน — 1 ปี และร้อยละ 13.2 ระบุให้โอกาสไม่เกิน 6 เดือน ตามลำดับ

ส่วนข้อห่วงใยของประชาชนต่อการกลั่นแกล้งทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นต่อ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่าส่วนใหญ่ห่วงใยต่อการใส่ร้าย ป้ายสี โดยไม่มีมูลความจริง การทำลายภาพลักษณ์ สร้างเรื่องไม่สร้างสรรค์ เช่น คลิปตัดต่อต่างๆ การขุดคุ้ยเรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับการทำงาน การสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในสภา และ ห่วงใยต่อการเอาเรื่องเก่าที่รู้แล้ว มาโจมตี

ขณะที่ความคาดหวังต่อการทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) พบว่า ร้อยละ 51.0 คาดหวัง “ปานกลาง" ร้อยละ 43.0 คาดหวังมากถึงมากที่สุด และร้อยละ 6.0 คาดหวังน้อยถึงไม่คาดหวังเลย

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่เห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการถ่ายทอดสดพิธีอำลาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและส่งมอบภารกิจระหว่าง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างสมเกียรติ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า หากทุกฝ่ายมองสถานการณ์การเมืองขณะนี้ด้วย “ใจสงบนิ่ง" ก็อาจเห็นใจทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยความเสียสละทั้งคู่ คนแรกเข้ามาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในขณะที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งและความเกลียดชังจากกลุ่มคนเสื้อแดงบางคนที่มีอารมณ์มุ่งหมายเอาชีวิต แต่นายอภิสิทธิ์ มีความสามารถบริหารราชการแผ่นดินจนประสบความสำเร็จทำให้ประเทศไทยมีฐานะ “เศรษฐกิจมหาภาค" มั่นคงเป็นหลัก ในขณะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ มีความมุ่งมั่นจะเข้ามาทำให้เกิดความสุขของประชาชนระดับปัจเจกบุคคลและครัวเรือน แต่ยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งว่าจะตามรอยพี่ชายของตนเองหรือไม่

พร้อมเสนอแนะทางออกคือ 1. ประชาชนทุกฝ่ายใช้หลักที่ “ไม่มีอคติ" ต่อตัวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และให้โอกาสเธอได้ทำงานตามความมุ่งมั่นที่บริสุทธิ์ใจของเธอเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนทั้งประเทศ แต่ภาคประชาสังคมต้องยกระดับตรวจสอบเธออย่างเข้มข้นและสร้างสรรค์ มิให้เธอใช้อำนาจที่ได้รับเพื่อประโยชน์ของตนเอง เครือญาติและพวกพ้องคนใกล้ชิด 2. นางสาวยิ่งลักษณ์น่าจะเริ่มงานแรกอย่างน่าประทับใจทันที นำคณะรัฐมนตรีทุ่มเททำงานหนักลุยในถิ่นทุรกันดารพื้นที่ที่เดือดร้อนของประชาชนโดยไม่อยู่แต่ที่ทำเนียบรัฐบาล สร้าง “ยิ่งลักษณ์โมเดล" ขึ้นมาแทน “ระบอบทักษิณ" และปลด “อคติแห่งนครา" ที่มักจะมีแรงกดดันจากกลุ่มนายทุนและอำนาจที่มองไม่เห็นมากำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อรักษาผลประโยชน์ในธุรกิจของตนเอง

3. นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่น่าจะมี “วอลเปเปอร์" แต่เธอน่าจะแสดงความเป็นผู้นำหญิงที่แข็งแกร่ง ไม่ต้องมีคนมาคอยอยู่ข้างหลังฉากตลอดเวลา คืออะไรที่คนไทยจำนวนมากไม่ชอบในอดีต ก็อย่าให้เกิดขึ้นในยุคของเธอ 4. รัฐบาลชุดใหม่ประกาศนโยบาย “สงครามคอรัปชั่น" เต็มรูปแบบ สนับสนุนทรัพยากรให้หน่วยงานและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องเต็มที่ในการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจังต่อเนื่อง และทำให้กรณีของ “พี่ชาย" เป็นตัวอย่างให้สังคมเกิด “ความวางใจ"

5. นางสาวยิ่งลักษณ์ น่าจะทำให้สาธารณชนมั่นใจในข้อความแรกๆ ที่เธอส่งมาให้สังคมช่วงหาเสียงว่า “จะแก้ไข ไม่แก้แค้น" ดังนั้น ไม่น่าจะมีข่าวหรือข้อครหาว่า “ทีใครทีมัน" ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ถ้าหากนางสาวยิ่งลักษณ์ใช้หลักการให้อภัย ก็น่าจะเชื่อได้ว่าสังคมก็จะใช้หลักเดียวกันกับเธอและกลุ่มคนแวดล้อมใกล้ชิดของเธอเช่นกัน ดังนั้น ขอให้เธอได้ใช้หลักคุณธรรม “เบญจศีล เบญจธรรม" และความสามารถบริหารจัดการด้วยอัจฉริยภาพของเธอ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ผลที่น่าจะตามมาก็คือ ประเทศชาติและประชาชนทุกชนชั้นน่าจะอยู่รอดได้อย่างเป็นสุขที่ยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ