สศช.สรุปนโยบาย"ยิ่งลักษณ์1"ชู 13 เรื่อง 8 ด้าน เน้นประชานิยม

ข่าวการเมือง Monday August 15, 2011 19:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จะเสนอ ครม.ให้รัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาร่างนโยบายรัฐบาลฉบับสมบูรณ์ ตามที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมกัน

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปนโยบายเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการในปีแรก 13 เรื่อง พร้อมรายละเอียดของนโยบายด้านต่างๆ 8 ด้าน ประกอบด้วย นโยบายความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต ด้านที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และ นวัตกรรม ด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ นโยบายการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี

สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่จะเร่งดำเนินการในปีแรก 13 เรื่อง คือ 1. นโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย ด้วยการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันของประชาชนในชาติให้เกิดความสมัครสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมสนับสนุนให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ ทำงานอย่างอิสระ ได้รับความร่วมมือทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการตรวจสอบความรุนแรงทางการเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การสูญเสียชีวิต บาดเจ็บในช่วงการชุมนุมทางการเมืองระหว่างเดือนเม.ย. และเดือนพ.ค. 2553

2. เร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล อบายมุขและสิ่งยั่วยุเยาวชน 3. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐอย่างจริงจัง 4. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน เช่น การยกเลิกการจัดเก็บเงินสมทบกองทุนน้ำมันเป็นการชั่วคราว การดูแลราคาสินค้าอุปโภค บริโภค และราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

5. เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน บนพื้นฐานสนธิสัญญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเร่งแก้ปัญหากระทบกระทั่งตามแนวพรมแดนผ่านกระบวนการทางการทูต 6. ส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยประกาศให้ปี 2554-2555 เป็นปี "มหัศจรรย์ไทยแลนด์"

7. ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน เช่น การเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท การจัดตั้งกองทุนสตรี โดยมีวงเงินเฉลี่ย 100 ล้านบาท จัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท ต่อ สถาบันการศึกษาของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย จัดให้มีบัตรเครดิตพลังงาน สำหรับผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้างให้เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติที่ใช้จริงต่อเดือน ปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ เป็นสวัสดิการของรัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายยังชีพของผู้สูงอายุ โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาท อายุ 80-89 ได้รับ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงินเดือน 1,000 บาท

ขณะเดียวกัน ก็จะจัดให้มีการพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อยที่ต่ำกว่า 5 แสนบาท อย่างน้อย 3 ปี มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ผู้ที่เป็นหนี้เกิน 5 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมทั้งจัดทำแผนฟื้นฟูอาชีพและปรับโครงสร้างการผลิตอย่างครบวงจร

8. ยกระดับราคาสินค้าเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุน โดยดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก และสร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร นำระบบจำนำสินค้าเกษตร มาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ เพื่อจัดทำระบบบัตรเครดิต สำหรับเกษตรกร พร้อมผลักดันราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญให้รายได้สูง โดยใช้วิธีบริหารจัดการทางการตลาดและกลไกตลาดซื้อขายล่วงหน้า

9. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้มีศักยภาพอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ชุมชนวิสาหกิจชุมชนใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นผนวกกับองค์ความรู้สมัยใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานราคาสินค้าและบริหาร การเข้าถึงแหล่งทุนและการตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้มีศูนย์กระจายและแสดงสินค้าถาวรในภูมิภาคและในเมืองท่องเที่ยวหลักที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว การส่งออก

10. พัฒนาระบบประกันสุขภาพ ปรับปรุงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค 11. จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แทบเล็ตให้แก่นักเรียน โดยเริ่มดำเนินการในโรงเรียนนำร่องระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2555 รวมทั้งจัดทำระบบอินเทอร์เน็ตไร้สายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในที่สาธารณะ และสถานศึกษาที่เหมาะสม

12. เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมือง ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 291 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อวางกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยบนหลักนิติรัฐ นิติธรรม องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายมีความรับผิดชอบที่ยึดโยงกับระบบ และพร้อมรับการตรวจสอบ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการออกเสียงประชาชน และ 13. เร่งนำสันติสุขกลับมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยระดมทรัพยากรและปรับปรุง บูรณาการการบริหารจัดการทั้งปวงตามแนวพระราชดำริพระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้สอดคล้องกับความหลากหลายของศาสนาและอัตลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ในการบังคับใช้กฎหมาย พร้อมอำนวยความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมทั่วถึง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ