ส.ว.ตั้งกระทู้ถามกรณีรัฐบาลเล็งลอยตัวราคา LPG ทั้งภาคขนส่ง-ครัวเรือน

ข่าวการเมือง Monday September 26, 2011 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ตั้งกระทู้ถามด่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประเด็นผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคยานยนต์และครัวเรือน โดยระบุว่าตามที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พลังงาน ให้สัมภาษณ์ว่าจะลอยตัวก๊าซแอลพีจีทั้งในภาคขนส่งและภาคครัวเรือนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.54 นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง เนื่องจากก๊าซแอลพีจีสามารถผลิตได้มากและเพียงพอต่อการใช้ ดังนั้นขอถามว่าการประกาศนโยบายดังกล่าวใช้หลักคิดใด รวมถึงเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะกำหนดราคาก๊าซในราคาที่คิดจากต้นทุนภายในประเทศ

ส่วนกรณีที่ระบุว่าก๊าซแอลพีจีไม่เหมาะที่จะใช้กับรถยนต์นั้น คิดว่าอยากให้ตรวจสอบในรายละเอียด เพราะก๊าซแอลพีจีเป็นก๊าซสำหรับรถยนต์และที่สำคัญก๊าซแอลพีจีมีความปลอดภัยกว่าก๊าซเอ็นจีวี เพราะมีความดันที่ต่ำกว่ามาก หากเกิดระเบิดขึ้นจะเกิดปัญหาน้อยกว่า

สำหรับกรณีที่กังวลว่าหากมีการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว จะมีคนจำนวนมากแย่งใช้ก๊าซในประเทศไทย คิดว่าเป็นเรื่องที่คาดเดาไปเอง เพราะมีตัวอย่างในประเทศมาเลเซียที่ราคาน้ำมันถูกกว่าประเทศไทย แต่คนไทยไม่สามารถนำน้ำมันดังกล่าวมาใช้ได้

ด้านนายพิชัย ได้ชี้แจงว่า จะยังไม่มีการลอยตัวราคาก๊าซในวันที่ 1 ต.ค.54 เพราะเรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีมากถึง 3,000-4,000 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงพลังงานไม่เห็นด้วยกับการนำก๊าซแอลพีจีมาใช้กับรถยนต์ เพราะเกิดอันตรายได้ง่ายหากมีการรั่วไหลของก๊าซ ซึ่งไม่เหมือกับก๊าซเอ็นจีวีที่มีอันตรายน้อยกว่า

"ในปี 58 จะมีการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้การซื้อขายก๊าซทำได้ง่าย เพราะของไทยมีราคาที่ถูกกว่าประเทศเพื้อนบ้าน โดยเวียดนามขายลิตรละ 46 บาท, ลาวขายลิตรละ 46.50 บาท, กัมพูชา ขายลิตรละ 39.84 บาท, พม่า ขายลิตรละ 35 บาท ขณะที่ไทยขายลิตรละ 18 บาท หากมีการรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วการซื้อขายจะทำได้ง่ายมากขึ้น แต่ยอมรับว่าปัจจุบันมีการลักลอบขนส่งก๊าซไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า ลาว กัมพูชา" รมว.พลังงาน กล่าว

ส่วนประเด็นของก๊าซเอ็นจีวีที่กำหนดราคาไว้ที่ 50% ของดีเซลนั้นมี 2 แนวคิด คือ 1.จากการคำนวนต้นทุนค่าเอ็นจีวีจากสถาบันการศึกษากลางของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าราคากลางของก๊าซเอ็นจีวีควรอยู่ที่ประมาณ 14 บาท และ 2. ส่วนที่กำหนดราคาครึ่งหนึ่งของน้ำมันดีเซล ความเป็นจริงในทางเศรษฐศาสตร์ควรมีราคาใกล้เคียงกัน เพราะหากราคาต่างกันมากจะทำให้บิดเบือนการใช้

ดังนั้นในแง่ของดีเซลและเอ็นจีวีที่มีค่าความร้อนใกล้เคียงกัน การที่เอ็นจีวีมีราคาครึ่งหนึ่งของดีเซลจะเป็นการลดต้นทุนของประชาชน หากลดต่ำกว่าราคาดังกล่าวจะเป็นการบิดเบือนเกินไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ