พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีมีข่าวคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมแจ้งข้อกล่าวหาในคดีฮั้วเลือก สว.ล็อตแรก 60 ราย ว่า ตนไม่ทราบในรายละเอียด ขอให้ไปสอบถามจากทาง กกต. แต่ในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบเสร็จแล้ว จะส่งไปให้ กกต. ซึ่งหลักฐานจะมีทั้งในส่วนที่ DSI ตรวจสอบ และที่ กกต.สอบเพิ่ม โดยในส่วนของ DSI จะเป็นข้อหาฟอกเงิน และอั้งยี่ ซึ่งทั้ง 2 คดีใช้พนักงานสอบสวนในชุดนี้ด้วย โดยจะทำหนังสือขอให้ กกต.มาเป็นที่ปรึกษา
"ผมไม่ทราบรายละเอียด ต้องไปสอบถามจาก กกต. แต่หลักฐานส่วนใหญ่ เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และอีกส่วนเป็นพยานบุคคล กกต. จึงอาจแจ้งข้อกล่าวหาเป็นล็อต" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
ในส่วนของ DSI ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเอกสาร และข้อมูลจากเทคโนโลยี เช่น ภาพและเสียง รวมถึงสถานที่ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 รายการ เพราะรายการแรกอาจจะบังเอิญได้ แต่รายการที่ 2 อาจจะไม่ใช่บังเอิญแล้ว และรายการที่ 3 อาจจะเป็นเรื่องของพฤติกรรม ส่วนที่เหลือทำให้เชื่อว่ามีพฤติกรรมตามที่กล่าวหา
ทั้งนี้ คาดว่า DSI จะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ในเวลาใกล้เคียงกัน หรืออาจจะหลัง กกต.ไม่นาน ส่วนจะสาวไปถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลังได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับพยาน หากสาวไปถึงใครก็ดำเนินการทั้งหมด
กรณีที่มี สว.ออกมาท้าทายให้ DSI ออกหมายจับ และพูดเชิงดูถูกว่า สว.มีศักดิ์สูงกว่า DSI นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันหมด มีคุณค่ามีศักดิ์ศรี เรื่องการอำนวยความยุติธรรม เราจะใช้อคติไม่ได้ ทั้งหมดต้องใช้พยานหลักฐาน
"พนักงานสอบสวนเรารับฟัง เพราะบางทีท่านอาจจะมีข้อมูล ในทางสอบสวน เรายังเปิดโอกาสให้ สว.ที่คิดว่าตัวเองไม่ผิด เข้ามาเป็นพยานได้ ซึ่งเราก็พบว่าในจำนวนนี้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นพยานให้กับ DSI ขณะเดียวกัน DSI ก็เป็นห่วงเรื่องของความปลอดภัย มีการคุ้มครองพยาน ซึ่งบางคนหลังจากได้ตำแหน่ง สว. เราก็มีการตรวจสอบว่าให้ใครมาเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ช่วย เพราะเป็นเงินของรัฐบาล เราก็ตรวจสอบด้วย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้มีความขัดแย้งกันในเรื่องนี้ แต่เนื่องจากกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษในบางมาตราให้เข้าไปขอหลักฐาน ถ้าไม่ให้หลักฐาน ก็มีมาตรา 24 ว่าด้วยเรื่องโทษ และในส่วนของความร่วมมือ ที่ผ่านมาตนอาจพูดไม่หมด ทางเรามีข้อบังคับในการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด และตำรวจ ผู้ว่าฯ ถือเป็นพนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจมีหน้าที่สืบสวน
"หากทาง DSI แจ้งไป ท่านคงไม่ขัดขวาง อันนี้ไม่รู้ว่าอธิบดีแจ้งผู้ว่าฯ ไปหรือไม่ แต่หากผู้ว่าฯ ที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง และตำรวจ มีหน้าที่แล้วไม่ทำ โดยเฉพาะเรื่องการทุจริต ก็มีความผิดตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญด้วย ตามมาตรา 157 แต่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการขัดขวาง และเมื่อวานนี้ ก็ได้มีการพูดคุยทักทายกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว" พ.ต.อ.ทวี กล่าว