นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว แสดงความไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีจำนำข้าวที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้เงินค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าว 10,029 ล้านบาท
นาย ปิยะบุตร ได้อธิบายคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวานนี้ว่า ศาลฯ ได้แยกพิจารณาโครงการรับจำนำข้าวเป็น 2 ส่วน คือ นโยบาย และ การปฏิบัติตามนโยบาย
ส่วนแรก คือ การดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวตามที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภา เป็นเรื่องทางการเมืองที่ถูกตรวจสอบโดยการตั้งกระทู้ถามหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ถือว่านายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ส่วนที่สอง คือ นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อให้นโยบายรับจำนำข้าวบรรลุผล ซึ่งเป็นการกระทำทางปกครอง ไม่ใช่การดำเนินการในส่วนนโยบาย จึงถือเป็นเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อันอาจมีความรับผิดทางละเมิดได้
ดังนั้น ในส่วนที่สองนี้ ศาลฯ ระบุว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีข้อทักท้วงแจ้งผลตรวจสอบต่อนายกรัฐมนตรีสอดคล้องกันว่าโครงการรับจำนำข้าวมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ก่อให้เกิดความสูญเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก มีการทุจริตเชิงนโยบายเกิดขึ้นในหลายขั้นตอน ขอให้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะ แต่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ดำเนินการใด ๆ แม้จะตั้งคณะอนุกรรมการแล้ว ก็ไม่ได้ติดตามผลว่าพบปัญหาตามที่ สตง.และ ป.ป.ช.รายงานหรือไม่
นอกจากนั้น ฝ่ายการเมืองยังมีการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยการกล่าวหาและมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตในการระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ถือว่านายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กขช.รับรู้ข้อมูลแล้วว่าโครงการนี้มีปัญหาการทุจริตทุกขั้นตอน แต่ไม่ได้สั่งการให้ตรวจสอบ ถือว่าปล่อยปละละเลย ไม่ใช้อำนาจป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทุจริต เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ทำการทุจริตได้โดยง่าย ถือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเมิดต่อกระทรวงการคลังทำให้ได้รับความเสียหายตาม ป.พ.พ.มาตรา 420
ขณะที่ศาลฯ ได้ชี้แจงว่า โครงการรับจำนำข้าวมี 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การตรวจสอบคุณสมบัติและรับรองเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2.การนำข้าวเปลือกไปจำนำและเก็บรักษา 3.การสีแปรสภาพข้าวเปลือกและเก็บรักษาข้าวสาร 4.การระบายข้าวด้วยวิธีการขายแบบ G to G
ในสามขั้นตอนแรกที่เป็นขั้นตอนการจำนำข้าว แม้มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ถึงขนาดเป็นความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่จะทำให้กระทรวงการคลังเสียหาย จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริต
แต่ในขั้นตอนที่ 4 การระบายข้าวแบบ G to G ที่มีการทุจริตเกิดขึ้นนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับทราบปัญหา แต่ไม่ได้มีการติดตามกำกับดูแลโครงการให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มความสามารถ โดยเฉพาะการตรวจสอบทุจริตอย่างใกล้ชิด ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธาน กขช. เข้าร่วมประชุมเพียงครั้งเดียว จึงเห็นว่ายังคงละเว้น เพิกเฉย ละเลย ไม่ติดตาม หรือสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินงานตรวจสอบ ทั้งที่น่าจะเห็นแล้วว่าโครงการนี้มีความเสียหายเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว ควรพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ที่หน่วยงานตรวจสอบทักท่วงแต่กลับเพิกเฉย จนมีการทุจริต เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง สมควรต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลนำความเสียหายจากสัญญาซื้อขาย 4 ฉบับที่มีปัญหาการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าวแบบ G to G มาพิจารณากำหนดค่าสินไหมทดแทนประมาณ 20,058 ล้านบาท ซึ่งมีผู้กระทำละเมิดหลายคน ต้องหักส่วนความรับผิดของแต่ละคนออก โดยกำหนดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ รับผิดประมาณ 10,029 ล้านบาท คิดเป็น 50% ของจำนวนมูลค่าความเสียหาย
นายปิยบุตร ระบุเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่า
- การเรียกค่าเสียหายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เกิดจากโครงการจำนำข้าวมีความสัมพันธ์กับรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 ส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นกลางของผู้ออกคำสั่งทางปกครอง
- น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในระดับนโยบาย และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
- คำสั่งกระทรวงการคลังยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/2555 และนาปรัง ปี 2555 แต่ต้องรับชอบค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปี 2555/2556 และปี 2556/2557 แต่ปรากฏว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นำความเสียหายจากการทุจริตระบายข้าวแบบ G to G ตามสัญญา 4 ฉบับ ซึ่งเป็นกรณีข้าวปีการผลิต 2554/2555 มาอ้างอิงด้วยในการออกคำสั่ง
- ศาลปกครองได้พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งกระทรวงการคลัง และความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการลงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งใช้ ป.พ.พ.มาตรา 420 และ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ขณะที่การพิจารณาคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นการพิจารณาความผิดทางอาญาตามมาตรา 157 และความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ เป็นคนละเรื่องคนละประเด็น
- การพิจารณาว่านายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ ใช้อำนาจตามกฎหมายปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือไม่นั้น จำเป็นต้องพิจารณาโดยยึดวัตถุประสงค์ของกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ให้กล้าตัดสินใจกระทำการเป็นสำคัญ
นายปิยบุตร ระบุว่า วิธี "เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว" จะทำให้ต่อไปนายกรัฐมนตรีประเทศนี้จะไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้เลย ไม่สามารถนำนโยบายที่รณรงค์หาเสียงมาปฏิบัติได้เลย เพราะหากมีใครไม่เห็นด้วยกับนโยบาย ทักท้วงขึ้นมา นายกรัฐมนตรีก็ต้องหยุดทันที และหากไม่อยากต้องรับผิด ถูกดำเนินคดี วิธีการปลอดภัยที่สุด คือ ไม่คิด ไม่เสนอสิ่งใหม่ ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องเสี่ยงใด ๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้ระบบราชการทำกันไปตามแต่ละวัน นายกรัฐมนตรีก็จะแปลงสภาพกลายเป็นปลัดประเทศไปในที่สุด
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้จึงเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชดใช้ 35,000 กว่าล้านบาท และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังบางส่วน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้อีกประมาณ 10,029 ล้านบาท