นายกฯ เร่งประสานทุกจังหวัดวางแผนป้องกันน้ำท่วม หวั่นต่างชาติย้ายฐาน

ข่าวการเมือง Saturday February 4, 2012 09:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรัฐมนตรี ระบุจากที่ประกาศใช้แผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำโดยใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทแล้ว ขณะนี้รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างเร่งประสานงานกับแต่ละจังหวัด โดยติดตามว่างบประมาณที่ลงไปในแต่ละพื้นที่มีการใช้เพื่อป้องกันจริงหรือไม่ การระบายตั้งแต่ต้นน้ำเป็นอย่างไร รวมถึงเส้นทางการระบายในแต่ละพื้นที่ประสบปัญหาอย่างไรบ้าง

"เราต้องดูด้วยว่าในแต่ละพื้นที่ที่ควรจะมีการขุดเส้นทางระบายน้ำสามารถทำได้จริงหรือไม่ บางพื้นที่ที่ควรจะใช้ระบายน้ำอาจจะมีประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานแล้วจำนวนมาก หากเป็นอย่างนั้นเราก็จะหาเส้นทางอื่นไปขุดแทน เพราะต้องการให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ"รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน"เช้านี้

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ขณะนี้ต้องการให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกังวลในเรื่องการลงทุนของชาวต่างชาติ หากชาวต่างชาติตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทย โอกาสที่จะย้ายกลับมาลงทุนในไทยอีกจะเป็นไปได้ยาก

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แผนแม่บทเสร็จแล้ว กำลังทำแผนรายจังหวัด เมื่อวาน(3 ก.พ.) ก็มีการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ(กยน.)มีการกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ แต่บางเรื่องยังพูดไม่ได้ เช่น บริเวณลุ่มน้ำหรือพื้นที่ที่จะมีผลกระทบ ก็ยังไม่สามารถประกาศได้ ขณะนี้กำลังรวบรวมทุกพื้นที่ เมื่อก่อนบอกว่าดูน้ำในเขือน แต่ตอนนี้ต้องดูน้ำในทุ่ง น้ำฝน น้ำจะออกไปทางไหน ต้องดูทุกอย่าง ต้องไล่ในรายละเอียด ก่อนที่น้ำจะมา

"เราบังคับน้ำไม่ได้ แผนที่จะทำคงไม่สามารถครอบคลุมเรื่องป้องกันได้ทั้งหมด ได้เฉพาะในส่วนของเจ้าพระยา เขตเมืองเศรษฐกิจและนิคม ส่วนเงินอีก 3 แสนล้าน จะมีการเชื่อมอีก 17 ลุ่มน้ำที่เราจะเริ่มหมด ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำทีหลัง"

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ในส่วนของเงิน 1.2 หมื่นล้านเราก็ใช้ได้บางส่วน ซึ่งได้เร่งรัดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ต้องไล่งานไปเพื่อให้เข้าใจ เราจะไปไล่หมด เพื่อ 3-4 วัตถุประสงค์ คือ เรื่องเงินที่ใช้ไปไปทำหรือเปล่า เขื่อนที่พังไปเสร็จเมื่อไร การเยียวยาประชาชน และการระบายน้ำ และดูต่อว่าตามเขื่อนคันกั้นน้ำ ไล่ตั้งแต่ทางเหนือเลย

ในส่วนของการประสานงานกับกทม. ได้มอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย หารือกับทางกทม.แล้ว ก็มาแบ่งกัน และในส่วนของกองทัพด้วย ในส่วนของคลองเล็กๆน้อยๆ 300กว่าคลองก็มอบหมายให้กองทัพดูส่วนเรื่องของขุดคลอง ส่วนลอกท่อก็มอบหมายให้กทม.ที่จะทำ

"ถ้าน้ำมาเหมือนปีที่แล้ว จะจัดการตามคูคลองเราน่าจะรู้ว่าจะจัดการอย่างไร เรารู้แล้วว่าจะจัดการอย่างไร ต้องไปไล่ในเรื่องของการเชื่อมต่อ เช่น ขุดคลองไปแล้วต้องแน่ใจว่าต่อเนื่องกัน มันไม่มีใครถูกใครผิด แต่มีหลายวิธี ต้องขึ้นกับมวลชนและสภาพความเป็นจริงด้วย ต้องลงไปในแต่ละพื้นที่เพื่อหารือว่าแผนแบบนี้คิดว่าจะไปได้แค่ไหน ไม่สามารถอยู่บนกระดาษแล้วไปประกาศได้เลย ก็ต้องเอาแผนแม่บทไปประสานลงในจังหวัด"

นายกรัฐมตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเร่งออกพ.ร.ก. 4 ฉบับพร้อมกันเพื่อจะได้เห็นว่ามีเงิน เงินที่ต้องใช้ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อใช้แก้ปัญหาการบูรณาการน้ำอย่างยั่งยืน เงินที่มีก็ใช้ได้บางส่วนที้ต้องเร่งทำในปีหน้า ตามข้อกฎหมาย ใช้วงเงินเพิ่มได้อีกแสนกว่าล้านบาท ส่วนภาระหนี้ที่มีอยู่ที่เป็นการใช้จ่ายในประเทศ และหนี้ที่มีมานานแล้ว คือ หนี้ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่รัฐบาลใช้ให้ เป็นเงินภาษีของประชาชน ใช้ชำระได้แค่ดอกเบี้ยกับเงินต้นเล็กน้อย ถ้าไม่ปรับปรุงตรงนี้ก็จะเป็นหนี้ที่ต้องใช้ต่อไปและไม่สามารถไปลดเงินต้นได้เลย

สวนหนี้ของกองทุนฟื้นฟูมีปัญหา รัฐบาลแข็งแรงก็รับภาระนี้ให้แต่ตอนนี้รัฐบาลมีภาระในการใช้จ่าย ไม่สามารถรับภาระนี้ได้ ก็มี 2 แนวทาง คือ ต้องโอนภาระให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือ ขึ้นภาษี ซึ่งก็ไม่อยากเลือกซ้ำเติมประชาชน ก็ต้องออกพ.ร.ก.ในการโอนภาระหนี้กลับไป ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นภาระหนี้ของประชาชนไม่มีที่สิ้นสุด เป้าหมายอยากให้ประเทศแข็งแรงจากพื้นฐานของประชาชน และประเทศแข็งแรง จึงเป็นที่มาของการออกพ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ