ที่ประชุม พท.กำชับ ส.ส.เข้าประชุมร่วมรัฐสภา 23-24 ก.พ.ผลักดันแก้ไข รธน.

ข่าวการเมือง Tuesday February 21, 2012 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคได้หารือถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 23-24 ก.พ.นี้เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้เลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยประธานที่ประชุมได้แจ้งว่าวิปรัฐบาลได้ขอความร่วมมือ ส.ส.ทุกคนในการเข้าร่วมประชุม เนื่องจากเป็นห่วงเรื่ององค์ประชุมไม่ครบและเกรงจะถูกตีรวนจากพรรคฝ่ายค้าน และขอให้ ส.ส.ทุกคนมีความอดทนเพื่อให้การประชุมสัมฤทธิ์ผลเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

สำหรับเวลาในการอภิปรายนั้นได้รับแจ้งจากทางวิปรัฐบาลว่า ฝ่ายรัฐบาลได้เวลา 8 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง และวุฒิสภา 8 ชั่วโมง ส่วนรัฐบาลที่เป็นผู้เสนอร่างจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที และในส่วนพรรคชาติไทยพัฒนาก็ได้เวลาเท่ากัน

ส่วนปัญหาพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ไม่ส่งตัวแทนร่วมเป็น กมธ.ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น โฆษก พท.กล่าวว่า ประชาชนจะได้เห็นธาตุแท้ของ ปชป. เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักขึ้นอยู่ ส.ส.ร.ทั้ง 99 คน ที่จะเลือกตั้งขึ้นมา ขณะที่ ปชป.ยังไม่เห็นเนื้อหาสาระแต่กลับปฎิเสธ

อย่างไรก็ดี วิปรัฐบาลได้ประสานพรรคร่วมรัฐบาล หากฝ่ายค้านวอล์คเอ้าทไม่ร่วมพิจารณาในการตั้ง กมธ.ร่วมฯ จำนวน 45 คน ตามสัดส่วน ถ้าไม่มีฝ่ายค้านก็อาจจะเสนอให้แก้ไขข้อบังคับการประชุมเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ถ้า ปชป.ไม่เข้าร่วมจะอยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่ลำบาก ต้องคิดหนัก หากมีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนจะพิพากษาเอง เพราะ ปชป.เป็นปฎิปักษ์กับประชาชน ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น

"พรรคเพื่อไทยจะใช้วิธีเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญสองมาตราของพรรคประชาธิปัตย์ที่ขณะนั้นพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วย แต่ได้มีการเสนอตั้ง ส.ส.งูเห่าจากพรรคเพื่อไทยไปเป็น กมธ.ร่วมฯ ในการพิจารณา" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ตั้งคณะที่ปรึกษา 10 คนเพื่อติดตามพิจารณาข้อเสนอแนะในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น โฆษก พท.กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นแล้วไม่มั่นใจและไม่ไว้ใจ ดูรายชื่อแล้วไม่สบายใจที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แต่งตั้งมา ไม่ว่า นายนรนิติ เศรษฐบุตร, นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีต รมต.สมัย คมช.และนักวิชาการอีก 6-7 คน ซึ่งส่วนใหญ่การแสดงจุดยืนจะอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตย และกลุ่มที่คิดแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50

"การที่จะไปเสนอทางออกให้ประเทศ น่าจะเป็นทางตันมากกว่า เพราะเป็นคนที่มาจาก คมช.และรัฐบาลรัฐประหารเข้ามาชี้แนะจะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศและไม่ลดความขัดแย้งกลุ่มการเมืองได้ จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินควรจะแต่งตั้งคนที่ดี เด่น ดังและมีจำนวนมากกว่านี้ ควรมีความหลากหลายเพราะเท่าที่ดูคนเหล่านี้ล้วนเป็นกลุ่มอำนาจเก่าทั้งสิ้น" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

โฆษก พท.กล่าวว่า ตามที่กลุ่มกรีนได้ยื่นเรื่องให้สอบสวนนั้น ก็เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินสามารถทำได้ แต่อยากเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบกลุ่มกรีนด้วย เพราะน่าสอดคล้องกับกลุ่มการเมืองและพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนมีการรับลูกซึ่งไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน แทนที่ควรตรวจการทุจริต เป็นการตรวจพฤติกรรมส่วนตัวซึ่งไปเอื้อบางกลุ่มบางพรรคหรือเปล่า

"สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลุ่มกรีน ไม่เคยออกมาตรวจสอบ แต่พอรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับออกมาตรวจในหลายเรื่อง เรื่องนี้น่าจะเป็นสองมาตรฐาน" นายพร้อมพงศ์ กล่าวย้ำ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ