(เพิ่มเติม) ตุลาการศาล รธน.วินิจฉัย พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับ"ไม่ขัด"รัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Wednesday February 22, 2012 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การตรา พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับที่ฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิส่งให้ตีความไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และวรรค 2 เนื่องจากดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อประเทศชาติ และมีความจำเป็นเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ในการวินิจฉัย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (วงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท)นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ทั้งวรรค 1 และวรรค 2

แต่ในการวินิจฉัย พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 เสียงว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และ วรรค 2

โดยวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของ ส.ส.และ ส.ว.ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 185 กรณี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำ และสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.การปรับปรุงบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 วรรค 1 และ วรรค 2 หรือไม่

ทั้งนี้ ในส่วนของ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (วงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท)นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกทั้งยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และการป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ ซึ่งปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงในปี 54 ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้างทั้งภาคประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งหากรัฐบาลไม่เตรียมแผนในการการป้องกันเหตุอุทกภัยก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนของประเทศ และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าจะเกิดน้ำท่วมขึ้นได้อีกในอนาคต

ส่วน พ.ร.ก.การปรับปรุงบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2555 นั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและมีความจำเป็นเร่งด่วนเช่นกัน เนื่องจากภาระหนี้อันเกิดจากกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ต้องชำระดอกเบี้ยปีละ 68,000 ล้านบาทนั้น ได้ทำให้งบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต้องถูกลดทอนลงไปถึง 16.2% ซึ่งหากรัฐบาลไม่ต้องดำเนินการในส่วนนี้จะสามารถนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่า

อีกทั้งตลอด 15 ปีที่ผ่านมา พบว่าการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนฯ ต้องใช้เงินมากกว่า 6.7 แสนล้านบาท แต่กลับสามารถลดยอดเงินต้นได้เพียง 13% เท่านั้น โดยยังเหลือหนี้คงค้างชำระอีกถึง 1.14 ล้านล้านบาท ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.ฉบับนี้และดำเนินการตามแผนก็คาดว่าจะทำให้ยอดหนี้หมดไปภายใน 21-26 ปี

นอกจากนั้น ศาลยังเห็นว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีความเชื่อมโยงในการบังคับใช้ร่วมกันกับ พ.ร.ก.ฉบับแรกและสอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณปี 56 ที่จะช่วยลดภาระหนี้ในส่วนนี้ลงไปได้

"ศาลเห็นว่า กรณีการออก พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับไม่ถึงกับเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญตามที่ผู้ร้องระบุ แต่เนื่องจากมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนจากเหตุอุทกภัย อีกทั้งยังไม่มีมูลว่าการตรากฎหมายดังกล่าวมีเจตนาไม่สุจริตที่จะหลีกเลี่ยงรัฐธรรมนูญ" ศาลฯ อ่านคำวินิจฉัย

อย่างไรก็ดี ในขั้นตอนต่อจากนี้ต้องนำกรอบการใช้จ่าย ตลอดจนรายละเอียดขั้นตอนการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ