"สนธิ"ดอดยื่นร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ เข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ข่าวการเมือง Friday May 25, 2012 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากรัฐสภา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ที่ทำรัฐประหารรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ เพื่อให้นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันมีสาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 15 ก.ย.48 จนถึงวันที่ 10 พ.ค.54

ทั้งนี้ตามร่างกฎหมายดังกล่าวอ้างเหตุผลว่า โดยที่ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและความรุนแรงในประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 จนนำไปสู่การสูญเสียชีวิตการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจ ผู้ต้องหาและจำเลยจึงไม่ใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นคดีอาญาปกติ การยึดทำอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 รวมถึงการยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคที่มิได้ส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิด ทำให้เกิดข้อวิจารณ์เกี่ยวกับความสอดคล้องกับหลักนิติธรรมของกลไกต่างๆของรัฐ กฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม

ประกอบกับได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกระทบกระเทือนต่อขวัญและกำลังใจของคนในชาติตลอดจนความสงบสุขของบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนทั่วไปต้องการให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองสมานฉันท์ หันหน้าเข้าหากัน แปลงวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสเพื่อฟื้นความสงบสุขและความเชื่อมั่นของคนในชาติรวมทั้งนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้กลับคืนมา จึงสมควรใช้หลักเมตตาธรรมด้วยการให้อภัยและให้โอกาสกับทุกฝ่ายซึ่งล้วนมีเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง อันเป็นไปตามประเพณีที่ประเทศไทยเคยปฎิบัติมาแล้วหลายครั้งและเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดอันมีสาเหตุจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ได้กระทำระหว่างวันที่ 15 ก.ย.48 จนถึงวันที่ 10 พ.ค.54 และเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาด้วยการคืนความชอบธรรมให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดีโดยกระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นตามประกาศหรือคำสั่งของ คปค. หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค.ที่มิได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติหรือขัดต่อหลักนิติธรรม อันเป็นการผดุงรักษาไว้ซึ่งระบบนิติธรรมและกระบวนการยุติธรรมของประเทศที่สากลให้การยอมรับ รวมทั้งการคืนสิทธิทางการเมืองให้กับกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่มิได้มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้น เพื่อให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายได้เข้ามาใช้ความรู้ความสามารถของตนร่วมกันแก้ไขปัญหาและนำพาประเทศให้ก้าวข้ามความขัดแย้งครั้งนี้ไปสู่สันติภาพและความมั่นคงสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพ.ร.บ.นี้

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว คือ มาตรา 3 ให้บรรดาการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2548 จนถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2554 หากมีการกระทำใดเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง การกระทำตามวรรคหนึ่งให้หมายความถึงการกระทำของบุคคลดังต่อไปนี้

(1) การกระทำทั้งหลายของบุคคลที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ห้ามการชุมนุม การกล่าววาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือการประท้วงด้วยวิธีใดๆอันเป็นการกระทบต่อร่างกายหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นซึ่งเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง

(2) การกระทำทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใดๆอันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันระงับหรือปราบปรามในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือการกระทำใดที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว

มาตรา 4 เมื่อ พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับแล้ว ถ้าผู้กระทำการตามมาตรา 3 อยู่ในระหว่างการสอบสวนให้ผู้มีอำนาจสอบสวนระงับการสอบสวนผู้นั้น ถ้าอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องให้พนักงานอัยการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องระงับการฟ้องหรือให้ถอนฟ้อง ถ้าผู้นั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี ถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลงและปล่อยตัวผู้นั้น

มาตรา 5 ให้ถือว่าบุคคลที่ได้รับผลระทบจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กรหรือคณะบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศหรือคำสั่งของ คปค. หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค.ซึ่งได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 หรือการดำเนินการหรือการปฏิบัติทั้งหลายขององค์กร หรือหน่วยงานอื่นใดอันเป็นผลสืบเนื่องจากการดำเนินการหรือการปฏิบัติขององค์กรหรือของคณะบุคคลดังกล่าว มิได้เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นผู้กระทำความผิด โดยให้นำความในมาตรา 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับผลกระทบนั้นให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ