นายกฯ ยังรอฟังความเห็นรัฐสภากรณีนาซ่า แม้จะถูกยกเลิกโครงการในปีนี้แล้ว

ข่าวการเมือง Friday June 29, 2012 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า แม้องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ(นาซ่า) จะได้ยกเลิกการขอใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภาสำหรับโครงการสำรวจชั้นบรรยากาศแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าตามมติ ครม.ในการเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 179 เพื่อรับฟังความเห็นของ ส.ส.และ ส.ว. เพราะรัฐสภาถือเป็นกลไกตรวจสอบผลประโยชน์ของชาติ

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าผลสรุปการรับฟังความคิดเห็นจะสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นมติ ครม.หากปีหน้านาซ่าขอดำเนินโครงการดังกล่าวอีก อย่างไรก็ดี จะไม่ขอตอบโต้หรือโยนความผิดกันไปมาระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยอยากให้ทุกฝ่ายทำเพื่อประโยชน์ของชาติอย่างโปร่งใสเพราะไม่ต้องการให้เรื่องนี้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ส่วนกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอให้ ถอนร่าง พรบ.ปรองดองแห่งชาติออกจากการพิจารณาของสภาฯนั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ต้องใช้กระบวนการของสภาฯหารือและตัดสินใจ เพื่อหาทางออกว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าถ้าถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ แล้วจะลดความแตกแยกได้หรือไม่

ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฏหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวในฐานะ อดีต รมว.ต่างประเทศว่า น่าเสียดายที่นาซ่ายกเลิกโครงการสำรวจชั้นบรรยากาศในประเทศไทยในปีนี้ ซึ่งทำให้คนไทย 64 ล้านคนเสียโอกาสที่จะได้ข้อมูลและผลการศึกษาเพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศได้ชัดเจน แม่นยำขึ้น

"เป็นที่เศร้าใจที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่งจ้องจะขัดขวางโครงการนี้ โดยสามารถทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติให้เป็นเรื่องการเมืองเพื่อหวังทำลายรัฐบาล โดยไม่แยกแยะว่าเรื่องใดเป็นเรื่องของชาติ เรื่องใดเป็นเรื่องการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นโครงการทางพลเรือน ไม่ใช่โครงการทางทหาร" นายนพดล กล่าว พร้อมมองว่า ฝ่ายค้านมีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อทำให้โครงการนี้เป็นเรื่องทางการทหาร ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาไม่ได้ซับซ้อน

อดีตรมว.ต่างประเทศ มองว่า นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินการถูกต้องแล้วที่ไม่ผลีผลามในเรื่องนี้ และส่งเรื่องนี้เข้าสู่สภาฯ เพราะมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารซึ่งเขียนไว้กว้างขวางมากว่าหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางต้องขอความเห็นชอบจากสภาก่อน ซึ่งมาตรานี้เต็มไปด้วยหลุมพรางและทุ่นระเบิดยากที่จะคาดเดาการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะในอดีตก็เคยเติมความคำว่า "อาจ" หรือ "อาจจะ" เข้าไปในมาตรา 190 แล้ว

"ดีใจที่รัฐบาลไม่ตกเป็นเหยื่อของมาตรานี้ที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร เพราะจะไปทำความตกลงใดๆ กับต่างประเทศ ก็เกรงว่าจะเข้าข่ายมาตรา 190 ซึ่งถ้าไม่แก้ไขมาตรานี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง" นายนพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ