(เพิ่มเติม) ศาลฯ เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางคดีคำร้องคัดค้านร่างแก้ไข รธน.รวม 29 หน้า

ข่าวการเมือง Thursday July 26, 2012 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่คำวินิฉัยกลางของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดีที่มีผู้ร้องคัดค้านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หลังจากศาลฯ มีคำพิพากษาเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ให้ยกคำร้อง โดยศาลฯ ได้เผยแพร่คำวินิจฉัยกลางจำนวน 29 หน้าผ่านทางเว็บไซต์ www.constitutionalcourt.or.th ในช่วงบ่ายวันนี้

คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารวม 5 คำร้องมีเนื้อหาในประเด็นเดียวกันซึ่งขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อันประกอบด้วย คำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับคณะ, คำร้องของนายวันธงชัย ชำนาญกิจ, คำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ, คำร้องของนายวรินทร์ เทียมจรัส และคำร้องของนายบวร ยสินทร กับคณะ ซึ่งได้ยื่นฟ้องประธานรัฐสภาในฐานะรัฐสภา, คณะรัฐมนตรี, พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุนัย จุลพงศธร กับคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล กับคณะ

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของศาลฯ มี 4 ประเด็น คือ

1.ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาและวินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ที่เป็นบทบัญญัติที่ให้สิทธิแก่ผู้ทรบการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามมาตรา 68 วรรคนึ่ง ที่จะใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยให้มีสิทธิสองประการคือ เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และ สามารถยื่นคำร้องขอให้ศษลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ยกเลิกการกระทำดังกล่าวได้ เพราะอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบวินิจฉัยสั่งการในกรณีที่ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรคสองนี้นอำนาจหน่าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญยังระบุว่าสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 มีหลักการมุ่งหมายให้ขนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องพิทักษ์รักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศให้เป็นไปตามวืถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรนูญไม่ให้ถูกล้มล้าง โดยสภาพจึงเป็นมาตรการในการป้องกันไว้ล่วงหน้า

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้น ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในมาตราดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มาโดยการลงประชามติ หากจะแก้ไขทั้งฉบับก็ควรจะให้ประชาชนได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่หากจะแก้ไขเป็นรายมาตราก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภา

3.การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 และกำลังจะเข้าสู่การลงมติในวาระที่ 3 ยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยฯ อีกทั้งขั้นตอนการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เป็นรูปธรรม การกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าซึ่งยังไม่ปรากฎผลใด ๆ

4.เมื่อวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จึงไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นเรื่องการยุบพรรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ