รายงานคอป.ฉบับสมบูรณ์แนะหยุดปลุกระดม,ลงโทษไม่เลือกปฏิบัติ-ไม่นิรโทษกรรมตัวเอง

ข่าวการเมือง Monday September 17, 2012 18:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) พร้อมกรรมการ คอป.ร่วมกันแถลงข่าวสรุปผลรายงาน คอป.ฉบับสมบูรณ์ หลังครบวาระการทำงาน 2 ปี โดยเนื้อหาในรายงานฉบับสมบูรณ์มีจำนวน 275 หน้า พร้อมภาคผนวกเกี่ยวข้องกับข้อเสนอแนะต่างๆ

สำหรับเนื้อหาในรายงานฉบับสมบูรณ์ แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1.ข้อมูลเกี่ยวข้องการตั้งคณะกรรมการ คอป. ส่วนที่ 2 สรุปเหตุการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้น 3.สาเหตุและรากเหง้า 4.เหยื่อและการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อ และ 5.ข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติตามข้อเสนอของ คอป.

ในส่วนข้อเสนอแนะ คอป.ได้จัดทำข้อเสนอแนะแบ่งออกเป็นหลายฝ่าย ทั้งข้อเสนอแนะต่อรัฐ องค์กรสื่อ กองทัพและทหาร การชุมนุมและสิทธิผู้ชุมนุม บทบาทและการคุ้มครองของหน่วยแพทย์ พยาบาล หน่วยบรรเทาสาธารณภัย และการนำหลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งมีข้อเสนอที่น่าสนใจคือ กรณีกองทัพที่ คอป.เรียกร้องให้กองทัพและผู้นำกองทัพวางตัวเป็นกลาง งดเว้นการก่อรัฐประหาร ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง นอกจากนี้เห็นว่าการใช้กำลังทหารแก้ไขปัญหาความขัดแย้งมักนำไปสู่ความขัดแย้ง คอป.จึงเห็นว่ารัฐต้องไม่ใช้กำลังทหารในการเข้าไปแก้ไขความขัดแย้งของบ้านเมืองและการชุมนุมของประชาชนโดยเด็ดขาด เพราะลักษณะของกองทัพไม่เหมาะที่จะควบคุมฝูงชน

ส่วนข้อเสนอต่อรัฐ คอป.เน้นว่าควรให้มีมาตรการสนับสนุนการทำงานของสื่ออย่างอิสระ ส่วนข้อเสนอต่อสื่อ คอป.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดมมวลชนให้เกิดความเกลียดชัด ความรุนแรง เคร่งครัดในจรรยาบรรณ ขณะที่ข้อเสนอต่อการชุมนุมตอนหนึ่งเห็นว่ากรณีพบว่ามีบุคคลติดอาวุธแอบแฝงอยู่กับผู้ชุมนุมเพื่อใช้ความรุนแรง รัฐอาจจัดให้มีเจ้าหน้าที่หน่วยพิเศษที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นการเฉพาะเพื่อให้ปฏิบัติการกับเป้าหมายได้อย่างแม่นยำเพียงเท่าที่จำเป็น แต่หากประเมินแล้วว่าปฏิบัติการอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น ต้องหยุดปฏิบัติการทันที

ส่วนข้อเสนอแนวทางดำเนินการในระยะเปลี่ยนผ่าน คอป.เห็นควรให้มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกคนทุกฝ่ายโดยไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อที่รับผลกระทบไม่เฉพาะเรื่องเงินแต่รวบถึงสภาพจิตใจ เกียรติยศ และเยียวยาไปถึงกลุ่มผู้ที่ถูกตั้งข้อหารุนแรงเกินสมควรและไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตลอดจนการสร้างสัญลักษณ์แห่งความทรงจำให้แก่สาธารณชนเพื่อเตือนใจ การแสดงความรับผิดชอบด้วยการขอโทษ และการนิรโทษกรรม ซึ่งต้องอาศัยจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตเงื่อนไขความผิดให้ชัดเจนและเฉพาะเจาะจง โดยพิจารณาแยกแยะการทำผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่การนิรโทษกรรมตัวเอง หรือนิรโทษกรรมแบบครอบคลุมเป็นการทั่วไป โดยปราศจากเงื่อนไข หรือลบล้างความผิด

ด้านนายสมชาย หอมลออ กรรมการ คอป.กล่าวว่า สำหรับปมปัญหาความขัดแย้ง คอป.พบว่า สืบเนื่องมาตั้งแต่การใช้อำนาจสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ให้อำนาจรัฐบาลไว้มากเกินไป ปมซุกหุ้น การรัฐประหารปี 2549 นอกจากนี้ยังพบความรุนแรงในปี 2553 มีเหตุมาจากความไม่ไว้วางใจต่อกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เช่น เหตุการณ์ที่พัทยา และเมษาเลือด ทั้งนี้รายงานดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการตรวจสอบ เพราะข้อเท็จจริงฉบับเต็มยังมีอีกจำนวนมากที่จะนำเสนอต่อไป

ส่วนข้อสรุปผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรงในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 พบมีผู้เสียชีวิต 92 คน แบ่งเป็น เจ้าหน้าที่ทหาร 8 คน ตำรวจ 2 คน ที่เหลือเป็นผู้ชุมนุม ทั้งนี้ไม่รวมคดีการเสียชีวิต 3 ศพที่สมานเมตตาแมนชั่น โดยทั้ง 92 คนมีหลักฐานว่าเสียชีวิตเพราะชายชุดดำ 9 คน แยกเป็น ทหาร 6 คน ตำรวจ 2 คน และประชาชนกลุ่มรักษ์สีลม 1 คน

จุดเริ่มต้นเหตุการณ์เริ่มส่อเค้ารุนแรงตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2553 ที่สถานีดาวเทียมไทยคมซึ่งรัฐพยายามจะระงับการออกอากาศ โดยครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำอาวุธสงครามไปด้วยแต่เก็บอาวุธและกระสุนแยกกันไว้ในรถเสบียง แต่ผู้ชุมนุมได้ยึดมาและแถลงต่อสื่อ ทำให้กลายเป็นประเด็นว่าเจ้าหน้าที่ทหารเตรียมอาวุธปราบผู้ชุมนุม กลายเป็นชนวนรุนแรงต่อมา

ส่วนเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความสูญเสียมากสุด คือ ที่บริเวณแยกคอกวัว และถนนดินสอ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ที่มีผู้เสียชีวิต 26 คน เป็นพลเรือน 21 คน รวมสื่อต่างประเทศ 1 คน ทหาร 5 คน บาดเจ็บรวมกว่า 864 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารกว่า 300 คน

และที่สำคัญ คอป.ยังพบหลักฐานคนชุดดำ คือบุคคลที่ไม่ทราบฝ่ายแน่ชัด ไม่ประกาศตัวชัด อาจไม่ต้องแต่งชุดดำ แต่ใช้อาวุธสงครามโจมดีเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังวันที่ 10 เม.ย.53 โดยตรวจสอบกับกองพิสูจน์หลักฐานของตำรวตพบการใช้ปืน เอ็ม 79 และปืนเล็กยาวยิงใส่เจ้าหน้าที่ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแถบถนนตะนาวและข้าวสาร ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย

ส่วนที่ถนนดินสอ โรงเรียนสตรีวิทยา และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถูกคนชุดดำโจมตี ทำให้หลังจากนั้นพบว่ามีร่องรอยกระสุนที่มีวิถียิงจากจุดที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ เช่น จากทิศทางวงเวียนวัดบวรฯ มาแยกคอกวัว จากสะพานวันชาติมาวงเวียนอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งพบมีร่องรองจำนวนมาก และพบกระสุนที่ยิงสวนกลับไปแต่ไม่มากเท่าไหร่ ส่วนที่ถนนดินสอพบร่องรอยระเบิดของเอ็ม 67 แต่ผู้เชี่ยวชาญบางรายบอกมีเอ็ม 79 ด้วย แต่ไม่พบร่องรอยกระสุนที่ยิงสวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปสะพานวันชาติ โดยอาวุธเอ็ม 67 คาดว่าน่าจะขว้างมาจากบ้านไม้โบราณที่มาจากทางเข้าโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งทั้ง 2 ลูกทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 4 ราย รวมถึง พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ด้วย ส่วนที่มีการรายงานว่า พล.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิตเพราะกระสุนปืน จากการตรวจสอบไม่พบถูกยิงด้วยกระสุนปืน แต่เสียชีวิตเพราะระเบิดเอ็ม 67 และไม่พบว่าถูกโจมตีจากเจ้าหน้าที่ทหารด้วยกันแต่น่าเชื่อว่าเป็นฝีมือของคนชุดดำ

สำหรับปฏิบัติการณ์ของคนชุดดำมีหลักฐานพบว่าได้รับการสนับสนุนจากการ์ด นปช. 6 คน และพบชายชุดดำบางคนเป็นคนใกล้ชิด พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง และพบว่า เสธ.แดง ได้ปรากฏตัวบริเวณดังกล่าวในช่วงบ่าย ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์รุนแรง

นายสมชาย กล่าวว่า มีการแต่งกายของชายชุดดำจริง ใช้อาวุธโจมตีเจ้าหน้าที่อยู่ ประกอบกับการก่อวินาศกรรมทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุมหลายสิบจุด ขณะนี้ยังจับตัวคนร้ายไม่ได้ ยกเว้นคนยิงกระทรวงกลาโหม ปัญหาคือชายชุดดำที่มีอาวุธเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกับใคร เพราะพบว่าหลายคนในชุดดำมีความใกล้ชิดกับ เสธ.แดง และปฏิบัติการของชุดดำได้รับความร่วมมือจากการ์ด นปช.แต่จะใกล้ชิดผู้นำและแกนนำ นปช.หรือไม่ คอป.ไม่มีหลักฐานยืนยัน แต่หลายเหตุการณ์ปฏิบัติการมาจากพื้นที่ควบคุม นปช. เช่น พระบรมรูป ร.6 และสวนลุมพินี และประตูน้ำ ส่วนเรื่องจำนวนชายชุดดำและเป็นบุคคลใดสรุปได้ยาก

"รายงานของ คอป.อาจไม่ใช่ความจริงที่สุด หรือเป็นความจริงสุดท้าย แต่ขอให้ถือเป็นข้อเท็จจริงที่มาจากการรวบรวมข้อมูล ณ ปัจจุบัน" นายสมชาย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ