นายกฯ แนะ ASEM มุ่งพัฒนาศก.อย่างยั่งยืน-เน้นปชช.เป็นศูนย์กลาง

ข่าวการเมือง Tuesday November 6, 2012 15:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 9 แบบเต็มคณะ(Plenary Session)วาระที่ 2 ประเด็นระหว่างประเทศ(Global Issues)โดยในที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาระดับโลกที่มีความหลากหลายและครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์นับเป็นปัญหาที่รุนแรงที่สุด ทั้งนี้ ในระยะยาว ปัญหาการค้ามนุษย์จะต้องได้รับการแก้ไขตั้งแต่ที่ต้นเหตุ อาทิ ปัญหาความยากจน และความไม่เท่าเทียม รวมทั้งจะต้องมีการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทั่วโลกต่างเห็นว่าเป็นวาระสำคัญที่เร่งด่วนและมีความสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอขอให้ประเทศต่างๆร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยี การวิจัยและการค้นคว้า เพื่อการคาดการณ์และประมาณการอุปสงค์ของอาหารโลก เพื่อจะได้มีการคำนวณปริมาณการผลิต ความต้องการ และการสำรองอาหารได้อย่างสอดคล้องกัน อีกทั้งจะต้องมีการพัฒนา และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเกี่ยวกับการเก็บรักษา และดูแลผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อเป็นคลังสำรองอาหารในยามฉุกเฉินด้วย

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอวาระการพัฒนาหลังปี 2015 ซึ่งมีเป้าหมาย คือ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเน้นใน 2 ด้าน ซึ่งมีความสำคัญสำหรับการพัฒนาหลังปี 2015 ได้แก่ 1. การลดความเสี่ยงและการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ ซึ่งมีความสำคัญต่อการมีห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืน โดยใน 2-3 ปีที่ผ่านมาปัญหาภัยธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งในด้านขนาดและความถี่ โดยอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปลายปีที่แล้วไม่ได้ส่งผลกระทบกับประเทศอย่างเดียว แต่ยังทำให้ห่วงโซ่อาหารต้องหยุดชะงัก รวมถึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารอีกด้วย

การแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเรียกร้องขอการสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติและกิจกรรมการเสริมสร้างศักยภาพ ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยทางหนึ่ง คือ การสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับโครงการกองทุน ESCAP Multi-Donor Trust Fund รวมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานจัดการภัยพิบัติจากทั้งสองภูมิภาคอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านการจัดการของภูมิภาค ในการให้การสนับสนุนการฟื้นฟูภัยพิบัติในระดับภูมิภาค

2. การสนับสนุนบทบาทของสตรีในด้านการพัฒนา การเพิ่มขีดความสามารถของสตรีไม่ใช่จำเป็นสำหรับสตรีเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต่อสังคมโดยรวมด้วย สตรีควรได้รับการบูรณาการในด้านแรงงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของโครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี (Women Development Fund) ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในประเทศไทย

นายกรัฐมนตรีหวังว่าทั้งภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคยุโรปจะสามารถแบ่งปันแนวทางปฏิบัติและประสบการณ์ที่ดีเกี่ยวกับการริเริ่มการพัฒนาขีดความสามารถของสตรีที่คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่านานาประเทศจะให้การสนับสนุนโครงการ Every Woman Every Child (EWEC) เพื่อให้การยกระดับสุขภาพของมารดาและเด็กเป็นรากฐานสำคัญสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal) หลังปีค.ศ.2015

กระบวนการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้จะต้องกำหนดให้มีความกว้างและครอบคลุม เพื่อให้แน่ใจว่ากระบวนการดังกล่าวสนับสนุนและกรรมสิทธิ์ของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยจะมีบทบาทที่สำคัญและสร้างสรรค์ในกระบวนการนี้ เพราะปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่มีความใกล้ชิดกับไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ