อนุ ปคอป.เตรียมเสนอ ครม.ขออนุมัติงบ 2.3 พันลบ.เพื่อเยียวยาเหยื่อม็อบ

ข่าวการเมือง Friday November 16, 2012 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับทิศทางการดำเนินงานจัดเวทีประชาเสวนา ตามคำสั่งของคณะกรรมการประสานงานและติดตามผลการดำเนินการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริง(ปคอป.) กล่าวว่า ที่ประชุมฯ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติงบประมาณจำนวนกว่า 2,300 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้ประกอบการ ผู้ถูกจับกุมคุมขัง จากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.-53 และเป็นงบประมาณสำหรับจัดเวทีสานเสวนาหาทางออกประเทศไทย

โดยในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม สำหรับผู้ที่ทรัย์สินเสียหายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 เตรียมของบประมาณรวม 2 พันล้านบาท ซึ่งได้แบ่งตามระดับมูลค่าความเสียหายเป็น 7 ระดับ ซึ่งจะจ่าย 40% ของค่าเฉลี่ยมูลค่าความเสียหาย แบ่งเป็นหลายระดับ ได้แก่ ระดับความเสียหายน้อยกว่า 1 แสนบาท จ่ายเงินรายละ 1 หมื่นบาท, ตั้งแต่ 1-5 แสนบาท จ่ายเงินรายละ 8 หมื่นบาท, มากกว่า 5 แสน-1 ล้านบาท จ่ายเงินรายละ 2.57 แสนบาท,

มากกว่า 1-2 ล้านบาท จ่ายเงินรายละ 5.2 แสนบาท, มากกว่า 2-3 ล้านบาท จ่ายเงินรายละ 9.32 แสนบาท, มากกว่า 3-4 ล้านบาท จ่ายเงินรายละ 1.315 ล้านบาท และมากกว่า 4-5 ล้านบาท จ่ายเงินรายละ 1.730 ล้านบาท

ส่วนระดับมูลค่าความเสียหายมากกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่ 406 ราย จะจ่ายเท่ากันรายละ 2 ล้านบาท ซึ่งผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลือจะนำข้อมูลเดิมที่ทางผู้เสียหายได้ละเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือเอาไว้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.6 หมื่นราย ส่วนการเยียวยาทางสภาพจิตใจกับผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์เดิมที่ ครม.ให้ความเห็นชอบตั้งแต่ 10 ม.ค.55 แบ่งเป็น 3 ประเภท คือผู้ถูกคุมขังที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ,ผู้ถูกคุมขังที่ศาลพิพากษายกฟ้อง และสุดท้ายผู้ถูกคุมขังที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด แต่วันเวลารับโทษ น้อยกว่าวันถูกคุมขัง ทั้งนี้ข้อมูลเบื้องต้นจากกรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม คาดว่ามีจำนวน 500 ราย ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาปรับรูปแบบการจัดเวทีเสวนาหาทางออกประเทศไทย จากเดิมกำหนด 60 เวที เพิ่มเป็น 108 เวที กระจายไปตามต่างจังหวัด ส่วน กทม.เตรียมจัดไว้ 8 เวที นอกจากนี้จะของบประมาณเพิ่มเติม 77.9 ล้านบาท รวมกับงบประมาณเดิมที่เคยอนุมัติไว้แล้ว 90 ล้าน รวมทั้งสิ้นเป็น 168 ล้านบาท

ทั้งนี้จะมีการเตรียมสรรหาวิทยากร ลงพื้นที่ไปพูดคุยตามเวทีต่างๆ กว่า 400 คน ซึ่งคาดว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้นได้ในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจึงเริ่มเดินหน้าจัดเวทีตั้งแต่กลางเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ก่อนนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาประมวลผล ซึ่งเชื่อว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงต้นเดือน มี.ค.55 ส่วนประเด็นที่จะใช้ในการพูดคุยทางฝ่ายวิชาการจะเป็นคนกำหนดประเด็นทั้งหมด โดยตั้งใจจะรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน และไม่มีการขอมติในที่ประชุมอย่างใด และคาดว่าในแต่ละเวทีจะมีผู้ร่วมเสวนาประมาณ 300-1,000 คน พร้อมทั้งจะมีการถ่ายทอดการจัดเวทีผ่านสื่อท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ