"อภิสิทธิ์"เปิดซักฟอกนายกฯ แพงทั้งแผ่นดิน-ลอยตัวบริหาร-ก่อให้เกิดทุจริต

ข่าวการเมือง Monday November 26, 2012 13:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ กล่าวในระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในวันนี้ว่า ปัญหาที่พบในขณะนี้คือ แพงทั้งแผ่นดิน ในขณะที่สินค้าเกษตรราคาถูกทั้งแผ่นดิน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น จากผลสำรวจของต่างประเทศจัดอันดับประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 56 เรื่องธรรมาภิบาลลำดับที่ 64 การศึกษาลำดับ 71 แต่ความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินลำดับที่ 99 ที่สำคัญคือด้านสิทธิเสรีภาพลำดับที่ 129 ทั้งนี้ จากผลสำรวจเดียวกันพบว่าปี 52 ไทยอยู่ลำดับที่ 54 ปี 53 อยู่ที่ลำดับ 52 และในปี 54 อยู่ลำดับที่ 45
"การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ดูมันมีอุปสรรค มึความยากลำบากเหลือเกิน เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชน ประชาชนต้องมาถามอยู่ตลอดเวลาว่า ท่านนายกจะมาฟังคำอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่...ผมไม่อยากเห็นว่ากระบวนการทางการเมืองของเรายังจะต้องตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้ และผมอยากเห็นกระบวนการทางการเมืองนั้น เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาระบอบประชาธิปไตย และเพื่อทำให้สังคมของเราสามารถเดินไปได้อย่างสงบสุข เพราะถ้าเราปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองมากเท่าไหร่ความอึดอัดในสังคมก็จะมามากขึ้นเท่านั้น แล้วสุดท้ายก็จะทำให้เกิดปัญหากับระบบการเมืองของเรา"

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีในวันนี้กำลังนำพาประเทศไทยสู่ความเสียหาย ซึ่งการภิปรายไม่ไว้วางใจวันนี้ขออภิปราย คือ เรื่องข้าว เราเติบโตมาจากข้าว ข้าวอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย แต่ในวันนี้ข้าวไทยกำลังถูกทำลายอนาคตจากนโยบายการจำนำข้าวที่ผิดพลาด ซึ่งในวันนี้เราต้องไม่หลงประเด็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับนโยบายการจำนำข้าวเป็นเรื่องของปัญหาในการปฏิบัติ และคนที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือ นายกรัฐมนตรี ท่านนำพาประเทศโดยใช้นโยบายนี้ต่อไปไม่ได้

"การจำนำข้าวที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยทำมาแล้วในอดีต และการจำนำข้าวที่แท้จริงต้องเป็นการจำนำจริงๆ...แต่โครงการนี้ถูกบิดมาเป็นโครงการรับซื้อข้าวโดยใช้ชื่อโครงการรับจำนำข้าวจากรัฐบาล ซึ่งมันมีความเสียหายอย่างมาก"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

การประกาศรับซื้อของที่แพงกว่าราคาปกติที่รับซื้อขายกันนั้น หมายความว่าคนที่รับซื้อจะต้องรับซื้อมาทั้งหมดตามที่ประกาศ ซึ่งเขาก็ต้องมาขายให้รัฐบาลเนื่องจากต้องการขายในที่ๆได้แพงที่สุด ฉะนั้นการออกแบบนโยบายคือนโยบายให้รัฐบาลเป็นผู้ซื้อและขายข้าว ซึ่งก่อนหน้าที่ทำมา ปี 51 ยังเป็นโครงการที่ยังจำกัด ทำให้คนที่เข้าโครงการก็ได้ประโยชน์ แต่มีเกษตรกรจำนวนมากเข้าไม่ได้ รัฐบาลสมัยประชาธิปัตย์จึงเป็นมาเป็นโครงการประกันรายได้ เพื่อให้เกษตรกรทุกรายได้รับเงินส่วนต่าง แต่รัฐบาลชุดนี้กลับไปทำโครงการนี้ใหม่เพื่อลบจุดอ่อนดังกล่าว จึงบอกว่าจำนำทุกเม็ด ฉะนั้นโครงการนี้นำไปสู่นโยบายการซื้อข้าว รวมถึงการผูกขาดการค้าข้าว จึงเป็นกลไกทำร้ายการซื้อขายปกติโดยสิ้นเชิง

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในโครงการจำนำข้าวของประเทศไทยและการบริหารราชการแผ่นดิน คือ เมื่อรัฐบาลจะเป็นผู้ผูกขาดซื้อขายข้าวของประเทศด้วยนโยบายซื้อแพงขายถูก การขาดทุนเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งตัวเลขของรัฐบาลบอกไว้ว่าที่ผ่านมาได้ใช้วงเงินไปแล้ว 517,958 ล้านบาท ขายไปแล้วได้กลับมาใน 3 ปีจะมีภาระการสร้างหนี้กว่า 224,553 ล้านบาท การขาดทุนในโครงการเดียวมีถึง 10% ต่อปี ถ้าทำไปเรื่อยๆ อีก 7 ปี หนี้สาธารณะก็จะไปแตะอยู่ที่ 60% ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งเข้าสู่ภาวะที่มีความเสี่ยง นอกจากต้องไปเก็บภาษีอากรจากประชากร หรือ ลดการใช้จ่ายอื่นๆในโครงการต่างๆ

"การทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้นกับวงการข้าวขณะนี้รุนแรงมาก และโกงทุกขั้นตอน การจำนำข้าวมีหลายคนเข้าโครงการไม่ได้ คนที่เข้าได้แล้วยังไม่เจอสักรายเดียวที่บอกว่าได้ 15,000 บาท ที่มีคือได้ 10,500 บาท และ ธุรกิจที่เกี่ยวกับข้าว อย่างเจ้าของโรงสี มีการได้เปรียบกว่าคนที่ประกอบธุรกิจโดยไม่มีเส้นสาย สู้ไม่ได้แล้ว มันจึงเป็นการทำลายการแข่งขันกลไกการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ดีถูกทำลาย และนำมาสู่ความเสียหายการค้าข้าวทั้งระบบของประเทศ ซึ่งในวันนี้ใครที่ไม่อยากวิ่งเข้าหารัฐบาลเขาจะไปทำการค้าข้าวกับ เขมร ปากีสถานและ อินเดีย"

ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวต่อว่า การตรวจสอบงบเยียวยาน้ำท่วมที่เดิมทางนายกฯ รับปากว่าจะมีรายละเอียดให้ตรวจสอบได้ แต่เว็บไซต์ของรัฐบาลเกี่ยวกับเงินน้ำท่วมไม่มีใครเข้าได้

การทุจริตคอร์รัปชั่นมีเรื่องหลักที่เป็นปัญหา คือ เรื่องราคากลางที่ทำให้เกิดการฮั้วราคา จึงเกิดการต่อสู้กันว่าการจัดทำราคากลางอย่างเปิดเผยต้องเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ซึ่งต้องทบทวนมติ ครม.เพื่อที่ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่เป็นไปตามรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ทำให้ไม่สามารถไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้

นอกจากนี้ ปัญหาของชายแดนภาคใต้ อยากเห็นความชัดเจนหากต้องมอบหมายให้บุคคลใดรับผิดชอบให้มีความชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรี หรือระดับรัฐมนตรีอีก 1 คนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ เพื่อดูแลการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และรายงานต่อฝ่ายนโยบายอย่างต่อเนื่อง แต่ในระยะ 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมามีการมอบหมายรองนายก 3 คน 4 คนจนสับสนกันไปหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ