นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า สาเหตุหลักมาจากที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น จึงอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ยึดวิถีทางประชาธิปไตย โดยรัฐธรรมนูญจะต้องสอดคล้องและเกิดความเสมอภาคใน 3 เสาหลัก คือ ฝ่ายการบริหาร ฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่งผลให้ประเทศมีความมั่นคง ส่งเสริมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
ดังนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงต้องมีประชาชนเป็นผู้เสนอและมีส่วนร่วม แต่แนวทางการทำประชามติยังอยู่ในขั้นตอนของคณะทำงานเพื่อสรุปผลว่าจะจัดทำประชามติในรูปแบบใด โดยมีรัฐบาลจะเป็นส่วนเสริมสนับสนุนในการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ
พร้อมระบุว่า อยากขอให้ดูในเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่าทำเพื่อประชาชนมากกว่าที่จะทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง และไม่มีใครบังคับประชาชนได้ ถือเป็นสิทธิ หากรัฐบาลทำงานไม่ดี ประชาชนก็คงจะไม่เลือกเข้ามาทำงาน ตามกลไกลของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน
"เรื่องนี้จะไม่นำไปสู่เหตุการณ์วุ่นวายเหมือนประเทศอียิปต์ เพราะรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้า"นายกรัฐมนตรี กล่าวสำหรับกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรค้างการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระที่ 3 นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสภาฯ จะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะที่รัฐบาลจะเป็นส่วนสนับสนุนในการกำหนดรูปแบบเนื้อหารายละเอียดการทำประชามติ จึงได้ฝากให้คณะทำงานศึกษาแนวทางการทำประชามติไปทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างไร
ส่วนแนวคิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เสนอแนะให้ทำประชามติก่อนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ถือเป็นข้อเสนอหนึ่งเหมือนกับทุกคนที่ให้คำแนะนำและข้อเสนอเข้ามาได้ โดยรัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายอีกเช่นกัน เพราะถือเป็นเสน่ห์ของประชาธิปไตย รัฐบาลเองก็ไม่ได้เร่งตัดสินใจ แต่จะเร่งทำความเข้าใจร่วมกันกับประชาชน ก่อนหาข้อสรุปเพื่อเป็นทางออก ดีกว่าทิ้งค้างเรื่องนี้ไว้โดยไม่สามารถเดินหน้าได้