พธม.จ่อยื่นหนังสือนายกฯ 8 ม.ค.ค้านอำนาจศาลโลกตีความคดีปราสาทพระวิหาร

ข่าวการเมือง Friday January 4, 2013 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ภายหลังจากการประชุมแกนนำพันธมิตรฯ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามนี้ จากกรณีการตีความของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร เนื่องจากเห็นว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะได้รักษาสัจจะของตัวเองตามที่ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ18 ก.ค.54 ว่าในฐานะคนไทยคนหนึ่งยืนยันว่าจะต้องทำหน้าที่เพื่อปกป้องอธิปไตย โดยขอให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

ประการแรก ใช้โอกาสสุดท้ายที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(International Court of Justice) ได้กำหนดให้มีการนั่งพิจารณาคดี (public hearings) กรณีกัมพูชายื่นคำขอตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 ในวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ถึงวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2556 ณ วังสันติภาพ (Peace Palace) ซึ่งเป็นที่ทำการของศาลฯ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยขอเรียกร้องให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยประกาศอย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรไทยถือว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการตีความคดีนี้ และราชอาณาจักรไทยจะไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการตีความในคดีความนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการตีความนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่ออธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย

ทั้งนี้ เพราะราชอาณาจักรไทยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนแล้ว และเป็นที่รับทราบโดยปราศจากการคัดค้าน ทั้งจากราชอาณาจักรกัมพูชา และสมาชิกองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งราชอาณาจักรไทยยังได้แถลงประท้วง ไม่เห็นด้วย คัดค้านในคำตัดสินที่ผิดพลาดและอยุติธรรม จึงได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคตหากกฎหมายระหว่างประเทศพัฒนาขึ้น โดยคำแถลงครั้งนั้นไม่ได้มีประเทศสมาชิกในองค์การสหประชาชาติคัดค้านแต่ประการใด ประกอบกับราชอาณาจักรไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยบังคับ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505

ประการที่สอง เมื่อราชอาณาจักรไทยไม่รับว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจในการตีความแล้ว รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยจึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่ต้องถอนทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดนออกจากแผ่นดินไทย และขอให้เร่งผลักดันชุมชนกัมพูชาให้ออกจากแผ่นดินไทย ทั้งนี้ ได้ปรากฏเป็นหลักฐานอย่างชัดเจนแล้วว่าตั้งแต่มีการก่อตั้งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมามีประเทศคู่พิพาทให้ศาลออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 17 คดี แต่ศาลรับให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว 10 คดี ผลปรากฏว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีประเทศใดปฏิบัติตามเลยแม้แต่ประเทศเดียว ซึ่งรวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับแต่ประการใด และหากรัฐบาลไทยยินยอมปฏิบัติถอนทหารออกจากพื้นที่จะถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวทั้งๆที่มีชุมชุนกัมพูชารุกรานเข้ามาอาศัยอยู่บนแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย

ประการที่สามให้รัฐบาลไทยเร่งฟื้นฟูและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยเฉพาะกับประเทศในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีประเทศใดเข้ามาใช้อำนาจในการละเมิดอธิปไตยของชาติ

ประการที่สี่ อาศัยกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 วรรค 7 และให้รัฐบาลไทยยืนยันว่าสมาชิกสหประชาชาติไม่มีอำนาจในการแทรกแซงในเรื่องภายในอธิปไตยของราชอาณาจักรไทย และให้รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยยืนยันตามข้อ 2 (ก) และ 2 (ง) แห่งกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่ารัฐสมาชิกอาเซียนจะต้องปฏิบัติตามหลักการในการเคารพเอกราช อธิปไตย ความเสมอภาค บูรณภาพแห่งดินแดน ตลอดจนไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐสมาชิกอาเซียน

ประการที่ห้ารัฐบาลราชอาณาจักรไทยจะต้องไม่กลับเข้าไปเป็นภาคีอนุสัญญามรดกโลกอีก

ประการที่หก ให้รัฐบาลไทยหยุดการใช้นักวิชาการ 7.1 ล้านบาท ที่รับจ้างจากกระทรวงการต่างประเทศมาโฆษณาชวนเชื่อในสื่อของรัฐฝ่ายเดียว เพียงเพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับการยกดินแดนไทยให้กับกัมพูชา เพราะนักวิชาการเหล่านี้มีจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายกัมพูชา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้กว้างขวางเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลจากผู้ที่ต้องการปกป้องอธิปไตยของชาติและไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

ประการที่เจ็ด ให้ช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทหารกัมพูชาจับในแผ่นดินไทยแต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับใส่ร้ายว่าถูกจับในแผ่นดินกัมพูชา โดยเร่งรัดดำเนินการให้ทั้ง 2 คนถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำกัมพูชาโดยเร็วที่สุด

"ดังนั้น หากรัฐบาลเมื่อทราบทางเลือกแล้วยังไม่ปฏิบัติตาม อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยยอมจำนนกับความพ่ายแพ้อย่างอยุติธรรมในเวทีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ย่อมถือว่ารัฐบาลมีเจตนาขายชาติขายแผ่นดิน จึงต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วยหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนครั้งนี้ และหากราชอาณาจักรไทยต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้ จะถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ราชอาณาจักรไทยต้องเสียดินแดนในรัชกาลปัจจุบัน เพราะการสมรู้ร่วมคิด รู้เห็นเป็นใจ ของนักการเมืองทุกฝ่าย ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำกองทัพที่ไม่ทำหน้าที่ในการปกป้องอธิปไตยของชาติตามรัฐธรรมนูญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และจะต้องร่วมกันรับผิดชอบในความอัปยศทั้งหมดที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไป" เอกสารแถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้มีมติให้ตัวแทนแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไปยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างเป็นทางการต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 ม.ค.56 เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ