ดุสิตโพลเผยคนกรุงจะตัดสินเลือกผู้ว่า กทม.จากตัวบุคคลและสังกัดพรรคการเมือง

ข่าวการเมือง Saturday January 5, 2013 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กรณี "พฤติกรรมการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ของคนกรุงเทพฯ" จำนวน 1,221 คน ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 55 — 4 ม.ค. 56 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมือง และแสวงหาฐานข้อมูลด้านความคิดเห็นของประชาชน พบว่าคนกรุงเทพฯ สนใจข่าว "การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม." เพราะส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43 เห็นว่าเป็นตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาดูแล กทม. เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ขณะที่ร้อยละ 26.54 มองว่าเป็นการแย่งชิงตำแหน่งเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่อยากตั้งความหวัง และกลัวจะผิดหวัง

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า คนกรุงเทพฯ ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจ "เลือกผู้ว่าฯกทม." พบว่า อันดับ 1 หรือร้อยละ 41.35 ดูที่ตัวผู้สมัคร อันดับ 2 ร้อยละ 30.45 ดูที่พรรคการเมืองและตัวผู้สมัคร ส่วนอันดับสุดท้ายที่ใช้ตัดสิน คือ นโยบายและผลงาน

ถามคนกรุงเทพฯอีกว่า ระหว่าง "ผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง" กับ "ผู้สมัครอิสระ" โดยอันดับ 1 หรือร้อยละ 59.65 เลือกผู้สมัครสังกัดพรรคการเมือง เพราะเลือกจากพรรคการเมืองที่ชอบ พรรคให้การสนับสนุนและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาด้านต่างๆ ขณะที่อันดับ 2 เลือกผู้สมัครอิสระ เพราะมีการทำงานเป็นอิสระ การทำงานคล่องตัว ไม่ต้องเกรงใจหรือขึ้นตรงกับใคร เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ฯลฯ ส่วนอันดับ 3 บอกไม่แน่ใจ

และระหว่าง "ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์" กับ "ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย" คนกรุงเทพฯคิดว่าใครได้เปรียบมากกว่ากัน โดยอันดับ 1 บอกไม่ได้เปรียบเสียเปรียบพอๆ กัน เพราะขึ้นอยู่กับตัวผู้สมัคร นโยบายการทำงาน ความรู้ความสามารถ และการตัดสินใจของคน กทม. ฯลฯ ขณะที่อันดับ 2 บอกว่าผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบมากกว่า เพราะเป็นพรรคที่มีฐานเสียงดีอยู่แล้ว คนกทม.ส่วนใหญ่ยังคงให้ความนิยมและเลือกผู้สมัครที่มาจากพรรคนี้ ฯลฯ ส่วนอันดับ 3 มองว่า ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยได้เปรียบมากกว่า เพราะเป็นพรรครัฐบาล การทำงานต่างๆ น่าจะได้รับการช่วยเหลือหรือได้รับการสนับสนุนที่ง่ายขึ้น ฯลฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ