ดัชนีภาวะผู้นำ"ยิ่งลักษณ์"พุ่ง ความสามารถ-สุภาพอ่อนโยน-อดทนมากขึ้น

ข่าวการเมือง Sunday January 20, 2013 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในดัชนีภาวะความเป็นผู้นำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ในฐานะนายกรัฐมนตรี กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จันทบุรี ลพบุรี ปทุมธานี ชลบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี ขอนแก่น พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,182 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 — 19 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในดัชนีภาวะความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ระหว่างเดือนตุลาคม ปี 2555 กับเดือนมกราคม ปี 2556 พบว่า ดัชนีภาวะความเป็นผู้นำที่ชาวบ้านระบุว่าเพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นมากที่สุดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหรือกล่าวได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ “น่าพอใจ" ได้แก่ ความสุภาพอ่อนโยน จากร้อยละ 51.9 ในเดือนตุลาคม ปี 2555 มาอยู่ที่ ร้อยละ 85.0 ในเดือนมกราคม ปี 2556 โดยมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 33.1 รองลงมาคือ ความอดทนอดกลั้น รู้จักควบคุมอารมณ์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.8 ในเดือนตุลาคม ปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 78.1 ในเดือนมกราคม ปี 2556 และความโอบอ้อมอารี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 74.8 คือมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 30.3 และร้อยละ 20.8 ตามลำดับ

ส่วนตัวชี้วัดอื่นๆ ที่น่าสนใจคือ มีความรู้ความสามารถ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.6 คือ “สอบตก" ในเดือนตุลาคม ปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 65.0 คือ “สอบได้" ในเดือนมกราคม ปี 2556 ซึ่งถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติถึงร้อยละ 20.4 นอกจากนี้ ตัวชี้วัดด้านการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 70.9 มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกถึงร้อยละ 17.4 และความเป็นคนรุ่นใหม่ มีกรอบแนวคิดการมองอะไรใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 60.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 73.0

ที่น่าพิจารณาคือ ตัวชี้วัดความเป็นผู้นำที่พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวกแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือกล่าวว่าอยู่ในระดับที่ “ค่อนข้างน่าพอใจ" ได้แก่ ความมีวิสัยทัศน์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 63.4 และด้านการได้รับการยอมรับทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 58.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 67.0

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในความเป็นผู้นำตามทรรศนะของประชาชนที่ต้อง “เฝ้าระวังรักษาไว้" ให้มีมากยิ่งขึ้น คือ ด้านจริยธรรมทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 55.8 ด้านความเสียสละ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 55.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 58.5 ด้านความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 60.1 ด้านความเป็นตัวของตัวเอง ลดลงจากร้อยละ 63.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 61.0 คือเปลี่ยนแปลงในทางลบอยู่ร้อยละ 2.7 แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและด้านความกล้าคิดกล้าตัดสินใจ ที่พบร้อยละ 52.5 ในเดือนตุลาคมปี 2555 มาอยู่ที่ร้อยละ 52.8 ในเดือนมกราคม ปี 2556

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ กลุ่มดัชนีความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่กำลังตกอยู่ใน “ภาวะวิกฤตที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ" เพราะมีอยู่ไม่ถึงร้อยละ 50 ได้แก่ การแก้ปัญหา (บริหาร) ความขัดแย้ง จากร้อยละ 49.2 ในเดือนตุลาคม 2555 ลดลงมาอีกอยู่ที่ร้อยละ 47.7 ในเดือนมกราคม 2556 ด้านความรวดเร็วฉับไวในการแก้ปัญหา ลดลงจากร้อยละ 49.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 48.5 และด้านความยุติธรรม ที่ค้นพบร้อยละ 49.6 ในเดือนตุลาคม ปี 2555 และร้อยละ 49.9 ในเดือนมกราคม ปี 2556 และด้านความซื่อสัตย์สุจริตพบร้อยละ 51.3 ในเดือนตุลาคม และร้อยละ 51.0 ในการสำรวจครั้งนี้

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามถึงความตั้งใจจะเลือกพรรคการเมือง ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่า จำนวนมากที่สุดหรือร้อยละ 42.8 ยังคงเลือกพรรคเพื่อไทยอีก ในขณะที่ร้อยละ 26.5 เลือกพรรคประชาธิปัตย์ และร้อยละ 30.7 เลือกพรรคอื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ