นายกฯให้ความมั่นใจเบลเยี่ยมต่อเสถียรภาพการเมือง-ระบอบประชาธิปไตยของไทย

ข่าวการเมือง Wednesday March 6, 2013 09:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการหารือระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายอองเดร ฟลาโอ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเบลเยี่ยม นายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯ ได้เห็นพ้องถึงความสัมพันธ์ไทย-เบลเยี่ยม ที่ดำเนินมาด้วยดีเป็นเวลา 145 ปี มีความใกล้ชิดในทุกระดับ โดยเฉพาะระหว่างพระราชวงศ์ทั้งสองประเทศ มีความร่วมมือครอบคลุมในหลายมิติ โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะอย่ายิ่งความสัมพันธ์ไทย-อียูกำลังได้รับการยกระดับความเป็นหุ้นส่วนรอบด้านบนพื้นฐานการมีค่านิยมร่วมกันในเรื่องต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย การเคารพสิทธิมนุษยขน และเสรีภาพในการแสดงออก ที่สำคัญยิ่งสำหรับการเยือนเบลเยียมในครั้งนี้คือ นายกรัฐมนตรีได้พบกับสถาบันสำคัญทั้งผู้นำนิติบัญญัติ และบริหาร ซึ่งสะท้อนถึงนัยยะความสัมพันธ์ของสองประเทศที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญต่อเสียงและความคิดเห็นของประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่มีโอกาสสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวทางความร่วมมือกับเบลเยี่ยมที่ขอให้พิจารณายกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าเชงเก้นนักเดินทางไทย เพื่อส่งเสริมการไปมาหาสู่และการค้าการลงทุนระหว่างกันให้สะดวกยิ่งขึ้น และการสนับสนุนการเปิดเที่ยวบินกรุงเทพฯ- บรัสเซลส์ให้มากขึ้น รวมทั้งการเริ่มเจรจาการจัดทำ FTA Thai-EU

สำหรับไทย ขณะนี้รัฐบาลดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นอกจากนี้รัฐสภาไทยและเบลเยียมมีปฏิสัมพันธ์กันใกล้ชิด และเมื่อเร็วๆ นี้ปรานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-เบลเยียมเดินทางมาเยือนเบลเยียม เพื่อเข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ รัฐสภาเบลเยี่ยม และในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีเชิญประธานสภาผู้แทนราษฎรเดินทางและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเบลเยียมเดินทางเยือนไทยเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน

ทั้งนี้ ประธานสภาฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันรัฐสภา ว่ารัฐสภาถือเป็นเสาหลักและหัวใจของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นสถาบันที่รวมของผู้แทนที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน ส่วนวุฒิสภามาจากภูมิภาคต่างๆ และเบลเยี่ยมกำลังกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค ไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเบลเยียมและ EU และมีโอกาสที่จะพัฒนาให้ลึกซึ้งได้อีกมาก รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐสภาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น รวมทั้งปราถนาที่จะเห็นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้รับผิดชอบทางการเมืองของทั้งสองประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ