พธม.ยื่นเงื่อนไขเพิ่มกลุ่มร่วมหารือนิรโทษกรรม-จี้สภาฯถอน 4 ร่างกม.

ข่าวการเมือง Wednesday March 6, 2013 11:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำรุ่นที่ 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นจดหมายถึงนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขก่อนเข้าร่วมหารือพิจารณาแนวทางในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามที่นายเจริญได้นัดหมายพร้อมกับแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 11 มี.ค.

พันธมิตรฯ ระบุว่าไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านอย่างถึงที่สุดในการออกกฎหมายใดๆ เพื่อการนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้กับผู้กระทำความผิดทางอาญาหรือการกระทำความผิดต่อการทุจริตในทุกกรณี และเห็นว่าการใช้หลักนิติรัฐเพื่อพิสูจน์ความจริงเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความสงบสุขที่ยั่งยืนได้ โดยให้ยึดหลักที่ว่าต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิด ผู้ที่ไม่ได้กระทำความผิดย่อมสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ในกระบวนการยุติธรรม และผู้กระทำความผิดทางกฎหมายพึงต้องได้รับโทษทางกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมทุกคน

ในส่วนของการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่มีความผิดลหุโทษและไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา แต่เป็นการกระทำความผิดทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจรัฐในช่วงเวลาเฉพาะกิจ อันได้แก่ การกระทำความผิดต่อการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร แกนนำพันธมิตรฯ เห็นว่าการประชุม 4 ฝ่าย คือ ตัวแทนฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตัวแทนพันธมิตรฯ นั้นไม่เพียงพอ และไม่สามารถทำให้เกิดข้อยุติที่เป็นธรรมได้

ทั้งนี้ เพราะในสถานการณ์ที่มีความขัดแย้ง มีความสลับซับซ้อนและมีความละเอียดอ่อนเช่นนี้ หากจะมีการนิรโทษกรรมแม้จะเป็นความผิดลหุโทษก็ตาม อย่างน้อยก็จำเป็นต้องได้รับการอภัยจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย การประชุมด้วยวงจำกัดข้างต้นโดยไม่ฟังเสียงคนอื่นๆที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียย่อมทำให้กลุ่มคนที่เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้กลายเป็น"อภิสิทธิ์ชน" ที่อยู่เหนือกฎหมายกว่าประชาชนคนกลุ่มอื่นๆอย่างไม่เป็นธรรม

แกนนำพันธมิตรฯ จึงเห็นว่าหากจะมีตัวแทนพันธมิตรฯ เพื่อปรึกษาหารือนับจากวันนี้จะต้องอยู่บนเงื่อนไขของการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครบทุกกลุ่มดังต่อไปนี้ ตัวแทนพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลในปัจจุบัน, ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะอดีตรัฐบาลและฝ่ายค้านในปัจจุบัน, ตัวแทนพันธมิตรฯ, ตัวแทน นปช., ตัวแทนองค์การพิทักษ์สยาม, นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย, ตัวแทนผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากการชุมนุมโดยที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม เช่น ร้านค้าที่สี่แยกราชประสงค์ สยามสแควร์ ฯลฯ รวมถึงผู้แทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริง เพื่อการปรองดองแห่งชาติ ( คอป.)

สำหรับการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำความผิดในคดีการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ แม้จะการมีตัวแทนของคนทุกกลุ่มข้างต้นแล้วก็ตาม ก็ต้องไม่ใช้การลงมติให้มีเสียงข้างมาก แต่จะต้องเป็นการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์เท่านั้น บนเงื่อนไขซึ่งเป็นที่ยอมรับและปราศจากการคัดค้านจากทุกฝ่าย

พันธมิตรฯ ยังระบุว่า หากเงื่อนไขที่เรียกร้องไปไม่สามารถปฏิบัติได้ ก็จะไม่เข้าร่วมการหารือในวันที่ 11 มี.ค.หรือหากแม้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้วแต่ต่อมามีการแปรญัตติหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มิได้เป็นไปตามที่ได้มีข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์จากผู้แทนกลุ่มต่างๆ แล้ว พันธมิตรฯ ขอสงวนสิทธิ์ที่จะคัดค้านเคลื่อนไหวชุมนุมนอกสภาต่อไปอย่างถึงที่สุด

นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้หยุดการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับ และควรถอนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติทุกฉบับออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศการปรึกษาหารือที่ดีโดยปราศจากความหวาดระแวง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ