(เพิ่มเติม) นายกฯ ปัด"ทักษิณ"สไกป์กดดันเดินหน้าพ.ร.บ.ปรองดองฯ โยนฝ่ายนิติบัญญัติตัดสินใจ

ข่าวการเมือง Tuesday March 12, 2013 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าการที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์เข้ามาระหว่างการประชุมพรรคเพื่อไทยวานนี้ (11 มี.ค.) ว่า ไม่ได้กดดันให้รัฐบาลเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองฯ และไม่มีผลกระทบต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล เพราะเรื่องนี้รัฐบาลต้องการให้ประชาชนมีทางออก โดยเห็นว่าแนวทางการพูดคุยร่วมกันของทุกฝ่ายจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพ.ร.บ.ปรองดองฯ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในส่วนของการบริหารงานของรัฐบาล ยังทำงานภายใต้กรอบกฎหมาย โดยรัฐบาลอยากเห็นทุกฝ่ายหันหน้าพูดคุยกัน ไม่อยากให้มีการใช้ความรุนแรง

"อยากเห็นประชาชนมีทางออก เราก็เห็นใจผู้ประสบปัญหาต่างๆ อยากให้มีการหารือกันเพื่อหาทางออก เพราะวันนี้มีหลายอย่างที่อยากให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพ.ร.บ.ปรองดองฯ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่จะพูดคุยกันต่อไป"นายกรัฐมตรี กล่าว

ส่วนกรณีที่พ.ต.ท.ทักษิณ สไกป์ในตอนหนึ่งว่า "ไม่อยากให้นายกรัฐมนตรีบริหารประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจด้านการเมือง"นั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การบริหารประเทศกับเรื่องการเมืองเป็นสิ่งคู่กัน แต่การบริหารในวันนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเกี่ยวข้องกับการร่างพ.ร.บ.ใดๆ แต่เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน คือการเดินหน้าแก้ไขเศรษฐกิจ ส่วนงานการเมืองคือการทำอย่างไรให้ประชาชนมีความสามัคคีปรองดองและประเทศชาติสงบสุข

สำหรับการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีแนวความคิดในการปรับครม. ส่วนกระแสข่าวใดๆ ที่ออกมา ยังไม่ได้ยินและตนยังไม่ได้พูดคุยกับใครทั้งสิ้น

ด้านนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวถึงกรณีนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ และ ส.ส.เพื่อไทย 42 คน เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยขอให้เร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จในสมัยประชุมสภานี้ว่า การร่างกฎหมายของนายวรชัยและคณะที่เสนอก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ จะว่าอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการขั้นตอนต่อไป

"เบื้องต้นทราบว่าประธานสภาผู้แทนฯ ก็ยังไม่บรรจุวาระการประชุม หากคุณวรชัยจะใช้เอกสิทธิ์ในการเสนอ ก็ควรทำความเข้าใจกับพรรคพวกเพื่อให้เป็นเอกภาพทางความคิด เพราะหากยังไม่ทำความเข้าใจ เกรงว่าจะยังไม่ได้รับความสนับสนุนที่มากพอ"นายณัฐวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ ตนเห็นว่าจะเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม อย่างไรก็ตามต้องอยู่ในหลักการ คือ ประชาชนที่ต้องคดีความทางการเมืองต้องได้รับโอกาสจากระบวนการยุติธรรม

"สิ่งที่ผมยืนยันมาตลอดจะเดินหน้าแบบไหนก็ได้แต่ต้องเป็นเอกภาพทางความคิดเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.หรือ พ.ร.บ. ต้องเห็นตรงเหมือนกันทั้งหมดทุกฝ่าย และคาดว่ารัฐบาลจะได้อธิบายความกับประชาชน จนได้รับการสนับสนุนจนเกิดเป็นเอกภาพทางความคิดและเดินหน้าต่อไปพร้อมกัน ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง โดยมองว่าเมื่อสิ้นสมัยประชุมนี้ก็ควรจะเดินหน้านิรโทษกรรมภายใต้กฎหมายในรูปแบบใดแบบหนึ่งได้ อีกทั้งหากเดินหน้าก็ไม่ควรรอพรรคประชาธิปปัตย์ หากฝ่ายสนับสนุนคุยกันแล้วเกิดเป็นเอกภาพทางความคิดก็น่าจะดินหน้าได้เลย"

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังทำเป็นการปฎิเสธการดำรงอยู่ของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งตนทราบมาว่า เมษายนนี้จะมีการเคลื่อนไหวของมวลชนอีกครั้ง ภายใต้กระบวนการคนหน้าเก่าแต่ชื่อใหม่ โดยพรรคประชาธิปัตย์พยายามสร้างเงื่อนไขและนำเอากฎหมายนิรโทษกรรมมาเป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมผู้คนเพื่อกดดันรัฐบาลอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ