"ขุนค้อน"มั่นใจแก้ รธน.ผ่านฉลุย,ปธ.วิปฝ่ายค้าน โวยได้เวลาน้อย-ชี้รบ.หวังกินรวบประเทศ

ข่าวการเมือง Monday April 1, 2013 13:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานรัฐสภาไม่กังวลเรื่องการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยมั่นใจจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้ ด้านประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ชี้หากปล่อยให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาจะเป็นการปิดช่องทางการตรวจสอบของประชาชน

นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 3 ฉบับ ในมาตรา 68, มาตรา 190 และมาตรา 237 ช่วงวันที่ 1-3 เม.ย.ว่า ไม่รู้สึกกังวลใจ และเชื่อมั่นว่าจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ถึงแม้ว่าสมาชิกรัฐสภาอาจมีความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ไม่น่าจะถึงขั้นนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้น

ประธานรัฐสภา ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ส่วนกรณีที่จะมีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นผู้วินิจฉัย

ส่วนความกังวลถึงการทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยนั้น นายสมศักดิ์ เชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เนื่องจากนายนิคมมีสถานะ 2 บทบาทหรือสวมหมวก 2 ใบ คือประธานวุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา แต่ยังเชื่อว่าจะทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการจัดสรรเวลาในการอภิปรายว่า การเจรจาระหว่างวิป 3 ฝ่ายยังไม่ได้ข้อยุติ เป็นเพียงการแถลงข้างเดียวของทางรัฐบาลที่ระบุว่า รัฐบาลจะได้เวลา 15 ชั่วโมง ฝ่านค้านจะได้เวลา 11 ชั่วโมง ซึ่งตามที่เคยปฏิบัติกันมายังไม่เคยมีการอภิปรายครั้งใดที่ฝ่ายค้านได้เวลาน้อยกว่ารัฐบาล แต่หากได้เวลาเท่ากันทางฝ่ายค้านก็ยอมรับได้

"จะมีการเจรจากันอีกครั้งในเรื่องกรอบเวลา ไม่ใช่เป็นบังคับเอาฝ่ายเดียว การที่จะมาอ้างว่าเป็นมติของทั้ง 3 ฝ่ายที่มีมติ 2 ต่อ 1 คงจะไม่ได้" นายจุรินทร์ กล่าว

ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า หากมีการยืนยันถึงข้อเสนอตามเวลาการอภิปรายข้างต้นนั้น ฝ่ายค้านก็ต้องยอมรับแต่จะต้องได้แสดงความคิดเห็นจนครบทุกคนตามจำนวนที่แจ้งความประสงค์ที่จะขออภิปราย ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส.แจ้งความจำนงมาแล้ว 40 คน โดยการอภิปรายในวันนี้จะชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลในเรื่องของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้ง 3 ร่าง โดยจะชี้ไปยังประเด็นสำคัญอยู่ที่ผลประโยชน์ซ่อนเร้นที่ปรากฎอยู่ในแต่ละร่าง ทั้งด้านเศรษฐกิจ และการเมือง เช่น มาตรา 190 ซึ่งหากถ้ามีการแก้ไขตามความต้องการของรัฐบาลนั้น ต่อไปการทำหนังสือสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการค้าการลงทุนจะมีผลผูกพันงบประมาณอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงต่อไปหากมีการเจรจาทำสัญญาในเรื่องผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติ แก๊ส ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่างๆ ที่มีพื้นที่ทับซ้อนก็ไม่ต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งจะเป็นเหมือนก่อนการยึดอำนาจ ในวันที่ 19 ก.ย.49 โดยรัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้ตามต้องการ จนในที่สุดจะนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อน

ประธานวิปฝ่ายค้าน เชื่อว่า การที่รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 จะนำไปสู่การควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของคนกลุ่มเดียว และจะนำไปสู่การโหวตรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในรัฐสภาในการแก้ไขมาตรา 291 ต่อไป

"ผมคิดว่าในที่สุดมันจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของการกินรวบประเทศไทยและนำไปสู่การเจือสมหรือนำไปสู่การที่จะล้างผิดต่อไป เพราะถ้าแก้ รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็จะขจัดมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญได้ รวมถึงการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สุดท้ายก็จะนำไปสู่การล้างผิดได้" นายจุลินทร์ กล่าว

นอกจากนี้นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงการทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ที่ได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยนั้นว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงนายนิคม อาจจะทำได้ 2 ทาง คือ 1. ยังคงยืนยันว่าจะเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่อาจจะแสดงความจำนงที่จะไม่ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะหากยังทำหน้าที่อาจมีปัญหาตามมา และ 2. ถ้าหากประสงค์จะทำหน้าที่ในการประชุมก็ถอนชื่อออกจากการประชุม เพื่อหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อนและความไม่เป็นกลาง

สำหรับกรอบเวลาในการประชุมร่วมรัฐสภานั้น นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงการจัดสรรเวลาอภิปรายซึ่งมีข้อสรุปจากวิป 3 ฝ่ายร่วมกัน คือ จะพิจารณา 3 วัน คือ วันที่ 1 เม.ย. เวลา 10.30-22.00 น., วันที่ 2 เม.ย. เวลา 09.30-22.00 น. และวันที่ 3 เม.ย. เวลา 09.30-22.00 น.โดยกำหนดระยะเวลาอภิปรายไว้รวม 34 ชม. แบ่งเป็น ส.ว. 8 ชม., ส.ส. 26 ชม. โดยเป็นสัดส่วนฝ่ายค้าน 11 ชม. และรัฐบาล 15 ชม. คนละ 3 นาที

ขณะที่นายจุรินทร์ ชี้แจงว่า ได้มีการหารือร่วมวิป 3 ฝ่ายจริง และมีข้อตกลงร่วมกัน คือ ประชุม 3 วัน และเริ่มอภิปรายตามเวลาที่ได้ตกลงกันก่อนหน้านี้ แต่มีประเด็นไม่ตรงกัน คือ เรื่องเวลา ซึ่งฝ่ายค้านไม่ขัดเรื่องเวลาของ ส.ว.ที่จะอภิปราย แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมรับเรื่องการจัดสรรเวลาให้กับรัฐบาล เนื่องจากระเบียบที่เคยปฏิบัติมากำหนดให้รัฐบาล คณะรัฐมนตรี (ครม.) และฝ่ายค้านได้เวลาเท่ากัน ดังนั้น จึงไม่ได้อยู่ในวิสัยที่ฝ่ายค้านปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วน จึงถือเป็นข้อยุติไม่ได้ ส่วนเรื่องการประท้วงจะต้องไม่นับรวมว่าเป็นเวลาของการอภิปราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ