ครม.รับทราบผลประชุมคกก.ร่วมไทย-เมียนมาร์ เตรียมเชิญญี่ปุ่นเข้าร่วมโครงการทวาย

ข่าวการเมือง Tuesday April 9, 2013 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการประชุมของคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 6-9 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องในการประชุมครั้งที่ 2 เดือนเม.ย.นี้ที่เมียนมาร์

โดยมีข้อสรุปดังนี้ 1.จัดตั้งกลไกการลงทุนระหว่างประเทศในลักษณะของนิติบุคคลเฉพาะกิจในประเทศไทย ในสัดส่วนการถือหุ้นที่เท่ากันระหว่างไทยและเมียนมาร์ เพื่อเป็นหน่วยธุรกิจที่รับสัมปทานพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย และทำหน้าที่ระดมทุนมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลัก ได้แก่ ท่าเรือ ถนน นิคมอุตสาหกรรม ไฟฟ้า น้ำ โทรคมนาคม และระบบราง เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินภายใต้กฎระเบียบและสิทธิประโยชน์พิเศษ โดยจะเชิญชวนนักลงทุน/กองทุนในต่างประเทศเข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

2.กรอบความตกลงโครงการ ที่ประชุมเห็นชอบ ให้ยกระดับกรอบความตกลงโครงการ ซึ่งเป็นการลงนามร่วมกันของ Myanmar Port Authority (MPA) กับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ (ITD) ให้เป็นข้อตกลงสัมปทานโครงการ และมอบหมายให้นิติบุคคลเฉพาะกิจเป็นผู้ดำเนินการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอืสระ เพื่อตรวจสอบสถานะการเงินการลงทุนของโครงการต่างๆที่บมจ.อิตาเลียนไทยได้ดำเนินการไปแล้ว และให้นิติบุคคลเฉพาะกิจเป็นผู้ชำระคืนค่าลงทุนแก่บมจ.อิตาเลียนไทย ส่วนการลงทุนในโครงการต่างๆ เช่น ท่าเรือ ถนน นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ จะอยู่ภายใต้กรอบเงื่อนไขของ Sectoral Agreement ของแต่ละโครงการ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จัดทำขึ้นระหว่างนิติบุคคลเฉพาะกิจ และคณะกรรมการบริหารเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยนิติบุคคลเฉพาะกิจจะเป็นผู้ที่มอบหมายให้ SPC (Special Purpose Conpany) เป็นผู้ลงทุน โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายด้วย ทั้งนี้รัฐบาลเมียนมาร์รับที่จะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย

3.ที่ประชุมได้ตกลงที่จะมีหนังสือเชิญประเทศญี่ปุ่นเข้าเป็นหุ้นส่วนการลงทุนในโครงการทวาย และเปิดโอกาสให้นักลงทุนประเทศอื่นๆที่มีความสนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ในระยะต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้มีคณะทำงานฝ่ายไทยและเมียนมาร์ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงินของโครงการในภาพรวมและรายโครงการ รวมทั้งจัดทำเงื่อนไขของธุรกิจบนหลักการที่ทำให้โครงการมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า สามารถระดมทุนจากสถาบันการเงินได้ เป็นธุรกิจที่แข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและมีความยั่งยืนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ