ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง"เรืองไกร"ยื่นยุบ ปชป,แต่รับวินิจฉัยปมแก้รัฐธรรมนูญ

ข่าวการเมือง Thursday April 11, 2013 16:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ กับคณะรวม 11 คน และพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)กระทำการร่วมกันใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่

"ศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นว่าตามคำร้องไม่ปรากฎว่ามีการกระทำฝ่าฝืนหรือต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย"คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

ขณะที่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 3 เสียงให้รับพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของนายบวร ยสินทร ภาคีเครือข่ายองค์การพิทักษ์สยาม กับคณะที่ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 กรณีที่ประธานรัฐสภากับพวกรวม 312 คนกระทำการเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการตัดสิทธิของบุคคลในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญหรือไม่

เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2-312 ซึ่งเป็น ส.ว.และ ส.ส.ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา โดยยกเลิกความในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แล้วเสนอเนื้อหาใหม่ที่เป็นการยกเลิกการใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงออกไป คงเหลือแต่เพียงให้บุคคลผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงเพียงประการเดียว และให้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญในกรณีที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยเท่านั้น ไม่อาจใช้สิทธิพิทักษ์ให้พ้นจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในลักษณะอื่นนอกเหนือจากการใช้สิทธิและเสรีภาพ อันเป็นการลิดรอนสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของชนชาวไทย

"มีมูลกรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบมาตรา 68 วรรคสอง กรณีจึงต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2552 ข้อ 17(2)"คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังมีโอกาสที่จะแก้ไขในวาระที่สองได้อีก ข้อเท็จจริงตามคำร้องจึงเป็นเพียงการคาดการณ์ล่วงหน้า ไม่เข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ส่วนนายบุญส่ง กุลบุปผา และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี เห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ และยังไม่มีมูลกรณีที่จะเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

ส่วนคำขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินนั้น ศาลเห็นว่ายังไม่ปรากฎมูลกรณีอันเป็นเหตุฉุกเฉินหรือเหตุผลอันสมควรเพียงพอที่จะต้องใช้วิธีการชั่วคราวดังกล่าว จึงให้ยกคำขอ

ทั้งนี้ ให้ผู้ร้องทำสำเนาคำร้องส่งต่อศาลจำนวน 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้อง และให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง หากไม่ยื่นตามกำหนดถือว่าไม่ติดใจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ