In Focusบึ้ม "บอสตัน มาราธอน" โศกนาฏกรรมที่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday April 24, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ชาวอเมริกันต่างใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง เพราะแม้แต่ตึกระฟ้าใจกลางเมืองอย่างตึกแฝด "เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์" และขุมบัญชาการของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอย่าง "เพนทากอน" ยังถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีได้ ก็คงไม่มีที่ไหนที่ปลอดภัยอีกต่อไป ผู้คนได้แต่ภาวนาว่าเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ท้ายที่สุดชาวอเมริกันก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ดังกล่าวจนได้

บอสตันสะเทือน

เมื่อวันจันทร์ที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา นักวิ่งราว 27,000 คน พร้อมกองเชียร์ประมาณ 500,000 คนได้มารวมตัวกันที่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแข่งวิ่งมาราธอน "บอสตัน มาราธอน" ระยะทาง 42.2 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดงานหนึ่งของสหรัฐ การแข่งขันดำเนินไปตามปกติจนเวลาผ่านไปประมาณ 4 ชั่วโมง และนักวิ่งกลุ่มฝีเท้าดีวิ่งเข้าเส้นชัยไปแล้วจำนวนหนึ่ง เวลาประมาณ 14.50 น.ตามเวลาท้องถิ่น เสียงระเบิดดังขึ้นด้านหน้าเส้นชัย และหลังจากนั้นเพียง 10 วินาที เสียงระเบิดลูกที่สองก็ดังขึ้นห่างจากจุดแรกไม่ถึง 100 เมตร

การระเบิดสองครั้งซ้อนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน ได้แก่ มาร์ติน ริชาร์ด เด็กชายวัย 8 ขวบที่มาเชียร์คุณพ่อซึ่งร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอน คริสเติล แคมป์เบล หญิงสาววัย 29 ปี และรายที่สามเป็นนักศึกษาสาวชาวจีนที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งทางครอบครัวไม่ต้องการให้เปิดเผยชื่อ นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 คน และหลายคนได้รับบาดเจ็บสาหัส แพทย์ระบุว่า ลูกระเบิดถูกอัดไปด้วยตะปู เศษโลหะ ลูกปราย และกระสุนดาวกระจาย ทำให้เหยื่อส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงบริเวณช่วงล่างของร่างกาย และหลายคนต้องตัดขาทิ้ง

วันอังคารที่ 16 เมษายน ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการ "ก่อการร้าย" แต่แรงจูงใจและกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ยังไม่เป็นที่แน่ชัด และในวันเดียวกันกลุ่ม "ตาลีบัน" ในปากีสถานปฏิเสธว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้

ไล่ล่าผู้ต้องสงสัย

เมื่อยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สำนักงานสืบสวนกลาง (เอฟบีไอ) จึงต้องสืบสาวราวเรื่องเอาเองจากหลักฐานที่พบ โดยจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายพบว่าควันที่พวยพุ่งออกมาจากการระเบิดเป็นสีขาว แสดงให้เห็นว่าเป็นวัตถุระเบิดประเภทดินดำหรือผงระเบิด นอกจากนั้นยังพบหม้ออัดความดันที่คนร้ายใช้ทำระเบิดโดยใส่ตะปูและเศษโลหะลงไปเป็นจำนวนมาก

วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน เอฟบีไอได้เผยแพร่คลิปวิดีโอจากกล้องวงจรปิดบริเวณใกล้เส้นชัยของการแข่งขันบอสตัน มาราธอน ซึ่งปรากฏภาพของชายผู้ต้องสงสัย 2 คนที่เอฟบีไอตั้งชื่อว่า "ผู้ต้องสงสัยคนที่หนึ่ง" และ "ผู้ต้องสงสัยคนที่สอง" โดยคนหนึ่งสวมหมวกสีดำสะพายเป้สีดำ อีกคนสวมหมวกเบสบอลสีขาวกลับหลังสะพายเป้สีเทา โดยคาดว่าในเป้สองใบน่าจะมีระเบิดที่ใช้ในการก่อเหตุ

ช่วงกลางดึกวันนั้นเอง ผู้ต้องสงสัยทั้งสองพยายามจี้ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งในเมืองเคมบริดจ์ ตรงข้ามกับเมืองบอสตัน ซึ่งมีแม่น้ำชาร์ลไหลผ่าน หลังจากนั้นทั้งสองคนได้หนีเข้าไปในสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) เอฟบีไอได้รับแจ้งเหตุมีเสียงปืนดังขึ้นภายในเอ็มไอทีจึงยกกำลังเข้าปิดล้อมพื้นที่ เกิดการยิงต่อสู้กัน เป็นเหตุให้ตำรวจรักษาความปลอดภัยของสถาบันเอ็มไอทีถูกยิงเสียชีวิต

ต่อมาทั้งคู่ได้โจรกรรมรถยนต์คันหนึ่งและขับรถหลบหนี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับรถติดตามไล่ล่าไปจนถึงย่านวอเตอร์ทาวน์ คนร้ายขว้างระเบิดมือใส่รถตำรวจ ก่อนจะเกิดการยิงปะทะกันอีกรอบ ทำให้ผู้ต้องสงสัยคนที่หนึ่ง (สวมหมวกสีดำตามภาพของเอฟบีไอ) ถูกยิงและไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ส่วนผู้ต้องสงสัยคนที่สอง (สวมหมวกสีขาว) หลบหนีไปได้

จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการไล่ล่าตัวผู้ต้องสงสัยคนที่สองนานกว่า 20 ชั่วโมง จนได้รับแจ้งจากชายคนหนึ่งว่า พบคราบเลือดและเด็กหนุ่มคนหนึ่งซ่อนตัวอยู่ภายในเรือของเขาที่จอดไว้ในสวนหลังบ้าน ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของตำรวจก็ตรวจพบสัญญาณความร้อน เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงที่เกิดเหตุได้มีการปะทะกันอีก แต่ในที่สุดก็สามารถจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยคนที่สองได้ ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาลในสภาพบาดเจ็บสาหัส

รายงานระบุว่า ผู้ต้องสงสัยคนที่หนึ่งและผู้ต้องสงสัยคนที่สองเป็นพี่น้องกัน โดยผู้ต้องสงสัยคนที่หนึ่งเป็นพี่ ชื่อนายทาเมอร์ลัน ซาร์นาเยฟ อายุ 26 ปี ถูกตำรวจยิงเสียชีวิต ส่วนผู้ต้องสงสัยคนที่สองเป็นน้อง ชื่อนายโซการ์ ซาร์นาเยฟ อายุ 19 ปี ทั้งคู่เป็นคนเชื้อสายเชเชนในแคว้นเชชเนีย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นชาวมุสลิมนิกายสุหนี่ และมีปัญหากบฏแบ่งแยกดินแดนกับรัสเซีย ทั้งสองได้สิทธิอยู่อาศัยถาวรในสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยอยู่ในสหรัฐมานาน 10 ปีแล้ว

อ้าง "ศาสนา" เป็นแรงจูงใจ

นายโซการ์ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ที่สำคัญมีบาดแผลฉกรรจ์ที่คอ ทำให้ยังไม่สามารถให้ปากคำใดๆได้ จนกระทั่งวันจันทร์ที่ 22 เมษายน เจ้าหน้าที่ได้เริ่มสอบปากคำโดยให้เด็กหนุ่มเขียนคำให้การลงบนกระดาษ เบื้องต้นได้ข้อมูลว่าสองพี่น้องซาร์นาเยฟมีแรงจูงใจจาก "ศรัทธาอันแรงกล้าในศาสนา" และไม่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรก่อการร้ายแห่งใดทั้งสิ้น เด็กหนุ่มยังระบุว่าพี่ชายของเขาเป็นผู้วางแผนการทั้งหมด

นอกจากนี้ นายโซการ์ได้ถูกอัยการตั้งข้อหาเจตนาก่อการร้ายต่อสหรัฐอเมริกาด้วยการใช้อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง และเจตนาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ โดยข้อกล่าวหาทั้งสองมีโทษสถานหนักถึงขั้นประหารชีวิต รองลงมาคือจำคุกตลอดชีวิต

ตามล่าผู้อยู่เบื้องหลัง

แม้นายโซการ์จะยืนยันว่า ไม่ได้ทำงานร่วมกับองค์กรก่อการร้ายแห่งใด แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่ปักใจเชื่อ โดยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศว่าจะตรวจสอบให้ได้ว่าสองพี่น้องซาร์นาเยฟได้รับความช่วยเหลือใดๆจากใครหรือไม่

มีข้อมูลว่าซาร์นาเยฟคนพี่ที่เสียชีวิตไปแล้วนั้น มักเข้าชมเว็บไซต์นิตยสาร Inspire ออนไลน์ ซึ่งจัดทำโดยเครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ในเยเมน ซึ่งเว็บไซต์นี้สนับสนุนการก่อการร้ายด้วยการลงมือเพียงคนเดียว

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ซาร์นาเยฟคนพี่ได้เดินทางไปยังเมืองดาเกสถานในรัสเซียนานกว่า 6 เดือนเมื่อปี 2555 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสืบสวนว่าผู้ต้องหาได้มีการติดต่อกับกลุ่มมุสลิมติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลหรือไม่

เหตุการณ์นี้จะลงเอยอย่างไรยังไม่มีใครรู้ แต่ที่รู้คือ "บอสตัน มาราธอน" ซึ่งจัดมายาวนานถึง 117 ปี คงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป งานที่เคยครึกครื้นสนุกสนานคงกลายเป็นงานที่ตอกย้ำถึงความเจ็บปวดจากเหตุการณ์นี้ ขณะที่การจัดการแข่งขันกีฬาอื่นๆทั่วโลกก็คงอยู่ในสภาพหวาดระแวง เพราะทุกคนตระหนักแล้วว่า ไม่ว่าจะรักษาความปลอดภัยมากเพียงใด ก็ยังมีช่องว่างให้ผู้ก่อการร้ายกระทำการได้เสมอ นี่ไม่ใช่การก่อการร้ายครั้งแรกที่เกิดขึ้นในวงการกีฬา และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ