โฆษกพท.ปัดรัฐบาลให้ท้ายม็อบนปช.ไล่ศาลรธน.,จวก ส.ส.ร.50 มีวาระซ่อนเร้น

ข่าวการเมือง Monday April 29, 2013 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า การที่นายองอาจ คร้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ท้ายกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการทำหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นการโยนบาป
"นางสาวยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาล ไม่มีใครไปให้ท้ายผู้ชุมนุม การชุมนุมของประชาชนถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ตราบใดที่ไม่ละเมิดกฎหมายก็สามารถทำได้ ถ้ามีการละเมิดกฎหมายก็คงต้องมีการดำเนินการ เหมือนที่ตัวแทนศาลรัฐธรรมนูญได้มีการดำเนินการแจ้งความกับผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมก็มีการแจ้งความกลับก็เป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

โฆษก พท.กล่าวว่า นายองอาจเป็น ส.ส.และอดีตรัฐมนตรีหลายสมัยก็ควรเข้าใจในสิทธิของประชาชน ส่วนที่กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่าไม่เข้าใจภาระหน้าที่ของ 3 เสาหลักของอำนาจอธิปไตย ตนเองมองว่าเป็นแค่เกมการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องถนัดที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ใช้ดิสเครดิต น.ส.ยิ่งลักษณ์ มากกว่า

"การชุมนุมเป็นเรื่องของประชาชนซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็พูดโดยหลักการ ไม่ได้ให้ท้ายผู้ชุมนุม หรือสนับสนุนแต่อย่างใด แต่นายองอาจกลับทำตัวเป็นฤาษีแปลงสารบิดเบือนข้อเท็จจริงมาโจมตีนางสาวยิ่งลักษณ์ มุ่งหวังเพียงประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างไม่สร้างสรรค์ ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เป็นการค้านแบบไร้สาระ รายวัน" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 ได้ออกแถลงการณ์กล่าวหาว่า มีขบวนการทางการเมือง ทั้งพรรคการเมือง นักการเมือง และมวลชน หวังเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 50 โดยได้กระทำกดดัน คุกคาม ความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกล่าวหา ส.ส. และ ส.ว.พรรคการเมืองที่ประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่าอาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า ตนเองขอปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าไม่เป็นความจริง สมาชิกรัฐสภาที่ไม่ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงจะทำจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญและประชาชนทุกคน มีเจตนาที่สุจริตและบริสุทธิ์ ทำเพื่อปกป้องอำนาจหน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคดีตรวจสอบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา

ส่วนการชุมนุมของประชาชนที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับการรับคำร้องในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ หากอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็ไม่มีความผิด ตามมาตรา 116 ที่ชมรม ส.ส.ร.50 อ้างถึง

"การออกแถลงการณ์ของชมรม ส.ส.ร. 50 นั้น ผมมองว่าน่าจะเป็นการข่มขู่สมาชิกรัฐสภา และประชาชนที่เห็นต่างกับ ชมรม ส.ส.ร. 50 ผมขอให้ประชาชนย้อนกลับไปดูภูมิหลังของบุคคลเหล่านี้ ที่อ้างว่าทำเพื่อประชาชนนั้น คนเหล่านี้ได้ดี เพราะผลจากการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 49 และมีส่วนสำคัญในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 ที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

โฆษก พท.กล่าวว่า ที่สำคัญกลุ่มคนเหล่านี้ไปบัญญัติรับรองให้การทำรัฐประหารโดยยึดอำนาจประชาชนชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 309 ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้พยายามปกป้องรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวเองทำเอาไว้ทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา และไม่เป็นประชาธิปไตย แต่กลับไม่ยอมเปิดใจ เปิดหู เปิดตา รับฟังปัญหาจากประชาชน แต่กลับหน้ามืดตามัว น่าจะหลงไปกับอำนาจวาสนาที่เคยได้รับจากการเป็น ส.ส.ร. 50 ที่สำคัญความขัดแย้งทางการเมืองจนก่อวิกฤตทางการเมืองทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ ของประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมถึงการสูญเสียทรัพย์สินจากความขัดแย้ง ซึ่งต้นตอส่วนหนึ่งมาจากรัฐธรรมนูญ 50

"ถามว่าคนกลุ่มนี้จะมีความสำนึกบาป และแสดงความรับผิดชอบกับวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ยุติอย่างไร วันนี้ยังออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญ 50 ที่มากจากเผด็จการ โดยปราศจากความละอายใจ" นายพร้อมพงศ์ กล่าว

โฆษก พท.กล่าวว่า การแสดงออกของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ในการไม่ส่งคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงทำจดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญเป็นมิติใหม่ทางประชาธิปไตย เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักการตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่เป็นการกดดัน หรือการคุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ