โฆษพท.ปัด"ทักษิณ"สไกป์สั่งแก้รธน. จวก"ส.ว.ไพบูลย์"ดิสเครดิตพรรค-รัฐบาล

ข่าวการเมือง Friday May 3, 2013 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคเพื่อไทยและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สไกป์มาที่พรรคเพื่อไทย สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 122 ว่า ขอปฏิเสธข้อกล่าวหาการยื่นคำร้องของนายไพบูลย์ว่าไม่เป็นความจริง เพราะพ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้สไกป์มาสั่ง ส.ส.ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างการปกครอง

อีกทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีมีภาวะความเป็นผู้นำ พ.ต.ท.ทักษิณแยกแยะออก ไม่เคยสั่งการหรือครอบงำสมาชิกพรรค และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จะมาสั่งการส.ส.และส.ว.ได้อย่างไร โดยส.ส.และส.ว.มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติไว้ตามมาตรา 291

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า นายไพบูลย์ ยืนอยู่ตรงข้ามกับ พ.ต.ท.ทักษิณและพรรคเพื่อไทยรวมถึงรัฐบาลมาตลอด จึงน่าจะเป็นเกมการทำลายพรรคเพื่อไทยเพื่อให้กระทบต่อรัฐบาลเท่านั้น และน่าจะเป็นเกมปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 อีกทั้งนายไพบูลย์ น่าจะได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2550 จากการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ส่วนกรณีการออกจดหมายเปิดผนึกของ 312 สมาชิกรัฐสภาคัดค้านและไม่ยอมรับอำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญนั้น โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สมาชิกรัฐสภา 312 คนยังคงยืนยันเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา และไม่มีบทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญมาก้าวล่วงและขยายเขตอำนาจของตนเอง

ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 และขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการ การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ขยายเวลาให้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปอีก 15 วันโดยจะครบกำหนดในวันที่ 15 พ.ค.นี้ ขอยืนยันว่า 312 สมาชิกรัฐสภาจะไม่ส่งคำชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลไม่มีอำนาจมารับคำร้องตามมาตรา 68 ได้

สำหรับการยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น คงเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภาที่มีการรวบรวมรายชื่อส.ส.ไว้ 100 คน ตามจำนวน 1 ใน 4 ของส.ส.เท่าที่มีอยู่ เรื่องนี้ไม่ใช่ความขัดแย้งหรือการกดดันศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นไปเพื่อให้มีการทำตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่ายตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถ้าสมาชิกรัฐสภาไม่แสดงออกด้วยการออกมาปกป้องอำนาจอธิปไตย ก็จะมีผลทำให้ประชาธิปไตยเกิดความอ่อนแอ จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรอื่นๆ รวมทั้งองค์กรอิสระ ซึ่งตนเป็นห่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญยังคงกระทำผิดโดยการก้าวล่วงอำนาจอยู่ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ