ที่ปรึกษาฯยัน"ทักษิณ"แสดงความเห็นปมค่าเงินบาทโดยบริสุทธิ์ใจ,ปัดแทรกแซง

ข่าวการเมือง Saturday May 18, 2013 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายฯ ยืนยันการแสดงความคิดเห็นของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการทำหน้าที่ดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้มุ่งหวังที่จะแทรกแซงการทำงานตามที่นายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.ระบบบัยชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ออกมากล่าวโจมตี
"นายเกียรติได้ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงหลายประการ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีความเป็นอิสระ แต่ก็ควรต้องรับฟังเสียงสะท้อนของทุกภาคส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ เพียงแต่แสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จะเป็นเรื่องเสียหายตรงไหน เพราะที่ผ่านมาก็มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยมากมาย ไม่ว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือ ภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ ธปท.ได้" นายนพดล กล่าว

กรณีที่นายเกียรติอ้างว่าไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวข้องกับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นก็เป็นการพูดเท็จ เพราะได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 4) พ.ศ.2551 หลังจากที่มีการรัฐประหาร 19 ก.ย.49 กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น และให้อำนาจ ธปท.มากมาย แม้แต่กระทรวงการคลังก็ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินของประเทศได้อย่างเต็มที่ เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้กำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ รมว.คลัง ไว้อย่างชัดเจน

ส่วนที่อ้างว่านักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไร ซึ่งน่าจะหมายถึงไม่ได้แก้ปัญหาเงินบาทแข็งนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่จริงแล้วนักวิชาการส่วนใหญ่ได้เสนอความเห็นผ่านสื่อมาโดยตลอดว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นหนึ่งในมาตรการที่ ธปท.สามารถใช้เพื่อสกัดเงินทุนต่างประเทศไม่ให้ไหลเข้าไทย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงได้

"คำพูดของนายเกียรติที่ระบุว่า การลดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยอะไร จึงเป็นคำพูดที่ไม่เป็นความจริง ทั้งยังเป็นการบิดเบือนความคิดเห็นของนักวิชาการอีกด้วย" นายนพดล กล่าว

นอกจากนั้นจากเอกสารรายงานของ ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่รายงานต่อ ครม.เมื่อวันที่14 พ.ค.ที่ผ่านมาได้ระบุว่า สาเหตุของการแข็งค่าของเงินบาทเกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสกัดเงินทุนต่างประเทศไม่ให้ไหลเข้าไทย เพราะจะลดแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการแสวงผลกำไรในระยะสั้น

นายนพดล กล่าวว่า นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจชั้นนำเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการนำรายได้เข้าประเทศ ไม่ใช่การทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางรายได้ประโยชน์อย่างที่นายเกียรติกล่าวหาอย่างไร้หลักฐาน ตรงกันข้ามหากปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าโดยไม่รีบแก้ไขจะมีผู้เดือดร้อนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออก ผู้ผลิตวัตถุดิบป้อนผู้ส่งออก ธุรกิจภาคท่องเที่ยวและบริการในประเทศ หากธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดกิจการลง จะทำให้คนไทยจำนวนมากต้องตกงาน

อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าก็จะมีบุคคลบางจำพวกได้ประโยชน์ คือ คนปล่อยเงินกู้ นักเล่นหุ้นรายใหญ่ๆ ในตลาด

"เหตุที่พวกท่านคัดค้านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งๆ ที่รู้เต็มอกว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่จะแก้ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทนั้น ท่านได้คำนึงถึงชะตากรรมของผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่ในขณะนี้หรือไม่" นายนพดล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ