"ปลอดประสพ" ยันเดินหน้าโครงการน้ำ เตรียมจัดนิทรรศการ-เสวนาปชช.คาดใช้เวลา 2 เดือน

ข่าวการเมือง Friday June 28, 2013 10:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาข้อกฎหมายหลังจากศาลปกครองมีคำสั่งให้มีการจัดทำรายงานความเห็นของประชาชนและผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า รัฐบาลจะยังดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทต่อไป โดยมองว่าการที่ศาลมีคำสั่งออกมาเช่นนี้เป็นการให้คำแนะนำมากกว่า และไม่รู้สึกกังวลหรือท้อถอย หลังมีข่าวว่ามีคนยื่นถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง

ส่วนแผนดำเนินงานหลังจากนี้ ในส่วนของมาตรา 57 วรรค 2 เกี่ยวกับการรับฟังความเห็นของประชาชน รัฐบาลจะระดมความเห็นทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ โดยในแต่ละภาคจะมีการแสดงนิทรรศการว่าแต่ละโมดูลได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ส่วนการจัดเสวนาภาคประชาชนนั้นจะมีการเชิญประชาชนมาร่วมรับฟังและแสดงความเห็นเฉลี่ย 2-4 หมื่นคนในแต่ละการประชุม คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน

ส่วนมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งเป็นเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ตามระเบียบสำนักนายกฯ ได้กำหนดไว้แล้วว่าต้องทำ EIA และ HIA อะไรบ้าง โดยจะรวบรวมข้อมูลการก่อสร้างในทุกโครงการส่งให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสำรวจว่าโครงการก่อสร้างจะสร้างที่จุดใดบ้าง และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปศึกษาและสรุปว่ามีความเห็นอย่างไรและกลับมาเสนอ กบอ.อีกครั้ง และ กบอ.จะยึดข้อสรุปของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติเป็นแนวปฏิบัติ

นายปลอดประสพ กล่าวว่า จากนี้จะหาโอกาสพูดคุยกับ 4 บริษัทที่ชนะการประมูลในแต่ละโครงการ (Module) อีกครั้ง

ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำ อย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมฯจะรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุดเพื่อวิเคราะห์และให้ความเห็นด้านข้อกฎหมาย โดยจะมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งนายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะทำงานชุดดังกล่าว ส่วนตนและกรรมการคนอื่นๆ จะทำหน้าที่ในการให้ความเห็นแก่นายพงษ์เทพต่อไป และจะนำเสนอเพื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา

ส่วนเรื่องการกู้เงิน นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ไม่น่ามีปัญหาเพราะการกู้เงินดอกเบี้ยจะเริ่มเดินก็ต่อเมื่อมีการนำเงินออกมาใช้ในแต่ละโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ