คมนาคม-กทม.จับมือตั้งคณะทำงาน 2 ชุด แก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ

ข่าวการเมือง Friday July 5, 2013 14:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รมว.คมนาคม เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการคมนาคมขนส่งในพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนแก้ไขปัญหาโครงการก่อสร้างต่างๆ รวมถึงด้านการจราจรอย่างตรงจุดและรวดเร็ว ซึ่งหลังจากนี้ทั้งสองหน่วยงานจะประชุมร่วมกันเป็นประจำทุก 2 เดือน และประชุมกลุ่มย่อยอย่างต่อเนื่อง

"เป็นการให้ผู้บริหารของทั้งสองหน่วยงานได้รับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในภาพรวม" นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม กล่าว

โดยในวันนี้ที่ประชุมเห็นพ้องให้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานพิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัญหาในโครงการรถไฟฟ้าและระบบขนส่งมวลชน และคณะทำงานซึ่งเน้นแก้ไขปัญหาการจราจร รวมถึงการวางเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อแก้ปัญหาจราจร(Intelligent Transportation System:ITS)

ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.และกระทรวงคมนาคมทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การขอใช้พื้นที่ใต้ทางพิเศษ(ทางด่วน) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเส้นทางลัดเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในพื้นที่สำคัญ รวมถึงจัดทำสวนหย่อมสวนสาธารณะ ลานกีฬา ซึ่งปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ก็ได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด แต่เป็นการรวมมือเฉพาะเรื่องในระดับข้าราชการประจำ ซึ่งแม้จะได้ผลดีแต่ไม่เพียงพอ

"ครั้งนี้จึงเป็นครั้งแรกในการประชุมผู้บริหารสูงสุดของสองหน่วยงาน เพื่อติดตามภาพรวมการทำงานของสองหน่วยงานและเดินหน้าทำงานร่วมกัน โดยการตั้งคณะทำงาน ซึ่งจะทำงานให้งานเดินหน้าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน" ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว

การประชุมครั้งนี้ได้ติดตามโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยเฉพาะบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งมีปัญหาการก่อสร้างสถานีและทางวิ่งรถไฟฟ้าบริเวณแยกไฟฉายของ รฟม.กับโครงการก่อสร้างทางลอดอุโมงค์แยกไฟฉายของ กทม. เนื่องจากมีพื้นที่เดียวกันกับโครงการทางลอดของ กทม.ที่อยู่ระหว่างการรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเตรียมการก่อสร้าง ทำให้ รฟม.ไม่สามารถเข้าพื้นที่ก่อสร้างบริเวณแยกไฟฉายได้

โดย กทม.จะเร่งรัดงานก่อสร้างทางลอดในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการของ รฟม. เพื่อให้ รฟม.เข้าพื้นที่ได้ตามแผนงานที่กำหนด นอกจากนี้ยังได้มีการปรับแผนการก่อสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าและสถานีแยกไฟฉายเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อกัน โดยใช้โครงสร้างฐานรากสถานีและทางวิ่งร่วมกับผนังโครงสร้างทางลอดรถยนต์ของ กทม. ทั้งนี้ รฟม.จะสนับสนุนงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างเพิ่มเติมในส่วนของการรองรับเสาฐานรากรถไฟฟ้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)

นอกจากนี้ ในส่วนของการพิจารณาตำแหน่งของโครงสร้างเสารองรับทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บริเวณแยกท่าพระ(ถนนเพชรเกษม) ซึ่งมีส่วนของเสาฝั่งหนึ่งอยู่แนบขอบสะพานข้ามแยกท่าพระ(ขาออก) อีกฝั่งหนึ่งอยู่บริเวณทางเท้าสาธารณะ(ทางเข้า) ทำให้ความกว้างของช่องจราจร(ขาออก) ลดลงจากเดิม 2 ช่องจราจร เหลือเพียง 2 ช่องจราจร ช่องละ 2.85 เมตร และทำให้ทางเท้ามีขนาดเล็กลงเหลือประมาณ 0.60-1.00 เมตรในบางช่วง ซึ่ง รฟม.และ กทม.ได้ร่วมมือกันปรับแบบการก่อสร้างทั้งในส่วนของรูปแบบวิธีการก่อสร้างและการจัดการจราจร ขณะนี้อยู่ระหว่าง รฟม.นำเสนอแบบการก่อสร้างให้ กทม.พิจารณาอย่างเป็นทางการ

สำหรับการแก้ไขปัญหาเสาตอม่อในช่วงบริเวณแยกบางพลัดนั้นยังหาข้อยุติไม่ได้ เนื่องจากเดิมกำหนดให้มีการก่อสร้างตอม่อบนทางเท้า และก่อสร้างท่อระบายน้ำทดแทนท่อระบายน้ำที่มีอยู่เดิมทั้งสองฝั่ง ทำให้เกิดปัญหาในการก่อสร้าง คือ รฟม.ไม่สามารถรื้อย้ายท่อระบายน้ำและระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ในผิวจราจรได้ตามเกณฑ์และข้อตกลงของ กทม. รวมทั้งจะทำให้ช่องกว้างบนทางเท้าเพื่อใช้สัญจรมีขนาดแคบลงเนื่องจาก กทม.กำหนดความกว้างทางเท้าต้องไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร ดังนั้น รฟม.จึงได้ปรับแบบก่อสร้างใหม่ซึ่งมีความจำเป็นต้องเวนคืนอาคารพาณิชย์สองฝั่งประมาณ 84 คูหา เพื่อก่อสร้างเสาตอม่อทางวิ่ง ทำห้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบร้องเรียนต่อกรรมาธิการคมนาคมของสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการปรับแบบเป็นลักษณะของตอม่อเดี่ยวกลางทางลอดของ กทม. ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้ขอให้ กทม.พิจารณาความเป็นไปได้เพื่อเสนอกรรมาธิการฯ อีกครั้ง

รมว.คมนาคม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องเร่งด่วนเนื่องจากประชาชนได้รับผลกระทบ จึงขอให้คณะทำงานที่จะตั้งขึ้นไปหารือร่วมกันในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วซึ่งจะต้องกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด หากสรุปไม่ได้จะมีการประชุมและตัดสินใจในระดับนโยบายอีกครั้ง อย่างไรก็ตามปัญหาโครงการก่อสร้างที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนและเป็นประสบการณ์ให้แก่หน่วยงานในการวางแผนโครงการต่างๆ ต่อไป

ส่วนการจัดระเบียบรถตู้บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิหลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ขณะนี้กรมการขนส่งทางบก, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, บริษัท ขนส่ง จำกัด และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยได้อนุมัติพื้นที่ใต้ทางด่วนสำหรับจอดรถตู้แล้วแต่ยังต้องสำรวจพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ คาดว่าในอีก 3-4 เดือน จะเห็นการจัดระเบียบรถตู้ชัดเจนยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ