In Focusความไม่พอใจต่อผู้นำประเทศ ชักใยสู่รัฐประหารในอียิปต์

ข่าวต่างประเทศ Wednesday July 10, 2013 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 ก.ค. 2556 เป็นวันที่นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ถูกโค่นลงจากตำแหน่งโดยกองของทัพอียิปต์หลังจากที่ทำหน้าที่ครบ 1 ปีในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศ และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นประธานนาธิบดีคนแรกของประเทศที่มาจากฝ่ายพลเรือนและเป็นชาวมุสลิม

ความเคลื่อนไหวของกองทัพมีขึ้นภายหลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจำนวนมากได้รวมตัวกันประท้วง เพื่อเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ในขณะที่นายมอร์ซีได้ปฏิเสธข้อเสนอของกองทัพที่เร่งให้แก้ปัญหาการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศนับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค ถูกโค่นลงจากตำแหน่งในปี 2554

ในการก้าวขึ้นสู่อำนาจในเดือนมิ.ย. 2555 นายมอร์ซีได้ให้คำมั่นว่า จะทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลเพื่อชาวอียิปต์ทุกคน แต่นักวิจารณ์ระบุว่าเขาไม่ได้ทำตามคำพูดที่ให้ไว้ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงร้อนระอุ

นายมอร์ซีถูกกล่าวหาว่า สนับสนุนให้ชาวมุสลิมครอบงำการเมือง รวมทั้งรวบอำนาจไปไว้ที่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งเขาสนับสนุน

ฝ่ายต่อต้านระบุว่า นายมอร์ซียังบริหารนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดและไม่สามารถแก้ปัญหาในประเด็นที่สำคัญหลายประเด็นซึ่งนำไปสู่ความวุ่นวายจนทำให้เขาถูกโค่นลงจากอำนาจ นั่นก็คือการเรียกร้องสิทธิและความยุติธรรมในสังคม

ในการกล่าวสุนทรพจน์เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 1 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ท่ามกลางแผนของฝ่ายต่อต้านในการรวมกลุ่มแสดงพลังคัดค้านที่ก่อตัวขึ้น นายมอร์ซีได้มีท่าทีที่อ่อนลง โดยยอมรับว่าเขาได้ทำพลาดในหลายเรื่อง และต้องมีการแก้ไข พร้อมกับระบุว่า จะตั้งชุดทำงานขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งฝักไฝ่มุสลิมที่กำลังเป็นปัญหา หลังจากที่เขาได้ผลักดันให้มีการทำประชาพิจารณ์ไปเมื่อปลายปี 2555

แต่อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งกระบวนการคัดค้านที่ลุกลามออกไปทั่วทั้งประเทศ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ซึ่งนับเป็นการปลุกระดมประชาชนให้ออกมาต่อต้านถึงระดับรากหญ้า ในขณะที่นายมอร์ซียังยืนยันที่จะเผชิญกับความวุ่นวายด้วยการแก้ปัญหาความขัดแย้งในรูปแบบของตนเอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่นของอียิปต์ได้ออกมาเตือนว่า ตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี เริ่มสั่นคลอนมากขึ้นทุกที เนื่องจากเขาถูกกดดันจากชาติตะวันตกให้รับฟังความต้องการของกลุ่มผู้ประท้วง

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังกล่าวว่า นายมอร์ซีไม่ได้เผชิญแค่ “แรงกดดันจากชาติตะวันตก" เท่านั้น แต่เขายังถูกบีบคั้นจาก “ความไม่พอใจภายในจากคนของเขาเอง" ซึ่งเห็นได้จากการลาออกของรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่คนสำคัญๆหลายคน พร้อมกับระบุว่า ความกังวลของชาติตะวันตกมีมากขึ้นเมื่อเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ต่อต้านและกลุ่มผู้สนับสนุนนายมอร์ซี โดยมีผู้เสียชีวิต 24 ราย และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,200 รายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ การเผชิญหน้ายังคงดำเนินมาจนถึงวันที่ 2 ก.ค. และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 200 ราย ขณะที่เส้นตายเรื่องการยื่นคำขาดครั้งสุดท้ายของกองทัพใกล้เข้ามาแล้ว

หลังจากที่นายมอร์ซีได้ปฏิเสธคำขาดของกองทัพในเรื่องการกำหนดอนาคตสำหรับอียิปต์ ผู้นำกองทัพได้เข้ามาแทรกแซงด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญไปจนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่

ประชาชนเริ่มไม่พอใจผู้นำ

การต่อต้านนายมอร์ซีเริ่มก่อตัวขึ้นในเดือนพ.ย. 2555 หลังจากที่เขาประกาศพรบ.เมื่อวันที่ 22 พ.ย. เพื่อให้การใช้อำนาจตัดสินใจของตนเองนั้นไม่สามารถอุทธรณ์ได้แม้แต่ศาล อีกทั้งยังประกาศปลดอัยการระดับสูงสุดของประเทศ และสั่งให้มีการไต่สวนเจ้าหน้าที่ในสมัยนายมูบารัคด้วยข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นต้นเหตุของการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ประท้วงเมื่อปีก่อน

ประชาชนหลายหมื่นคนได้รวมตัวกันประท้วงกฎหมายดังกล่าวและได้ก่อตั้งแนวร่วมแห่งชาติเพื่อกอบกู้ประเทศจากการรวมตัวกันของหัวหน้ากลุ่มต่อต้านที่ไม่เห็นด้วย ส่งผลให้กฎหมายถูกยกเลิกในเวลาต่อมา

แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มต่อต้านได้เผชิญหน้ากับกลุ่มผู้สนับสนุนปรธานาธิบดีซึ่งยืนยันว่า นายมอร์ซีเป็นผู้นำอียิปต์ที่ถูกต้องตามกฎหมายและได้เริ่มการทำงานเพื่อกำจัดคอร์รัปชั่นที่มีมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษอันเนื่องมาจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ และกล่าวหาว่าฝ่ายต่อต้านยั่วยุให้เกิดความรุนแรง

การบริหารนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด

รูปแบบการเมืองของกลุ่มภราดรภาพที่ให้ความสำคัญกับการรวมอำนาจ เพื่อให้สามารถวางแผนแก้ปัญหาของอียิปต์ได้อย่างครอบคลุม นับตั้งแต่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไปจนถึงเรื่องความมั่นคง ปัญหาจราจร และปัญหาขยะล้นเมือง กลับทำให้ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในระหว่างที่นายมอร์ซีดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ การลงทุนของประเทศหดตัวลงในขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งสร้างงานให้กับชาวอียิปต์ราว 1 ใน 10 ของประชากรเข้าสู่ภาวะซบเซา เนื่องจากที่นักท่องเที่ยวได้ยกเลิกการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอียิปต์เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ความไม่สงบ ในขณะที่นายมอร์ซียังคงเดินหน้าทำความผิดพลาดอย่างต่อเนื่องด้วยการแต่งตั้งผู้ว่าการการท่องเที่ยวคนใหม่ที่มาจากกลุ่มกามา ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์สังหารนักท่องเที่ยวในปี 2540

แต่อย่างไรก็ดี หนึ่งในสิ่งที่ประธานาธิบดีมอร์ซีประสบความสำเร็จสูงสุดก็คือกลยุทธ์ในการต่อต้านอำนาจทหารที่ปกครองอียิปต์หลังจากที่นายมูบารัคถูกโค่นล้มลงจากอำนาจ ด้วยการปลดผู้นำกองทัพในขณะนั้นออกจากตำแหน่งแต่ยังคงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดี

นอกจากนี้ นายมอร์ซียังได้แก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภาสูงสุดของกองทัพ ซึ่งได้จำกัดอำนาจของประธานาธิบดี ในขณะที่เขาได้รับคำชื่นชมในเรื่องนโยบายต่างประเทศ

นักลงทุนเชื่อเศรษฐกิจจะพลิกกลับมามีเสถียรภาพ

ตลาดหุ้นอียิปต์ดีดตัวขึ้นอย่างรุนแรงหลังการหลุดพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี นักวิเคราะห์คาดว่า นักลงทุนจะ “กลับมา" เชื่อมั่นว่าอียิปต์เป็น “ดินแดนแห่งพันธสัญญา" ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นเป็นสิ่งที่วงในบรรยายว่า “น่าจดจำ" หลังจากที่ร่วงลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนเนื่องจากอียิปต์ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่สงบที่คุกรุ่นและมีการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างกลุ่มชาวมุสลิมที่สนับสนุนนายมอร์ซี และกลุ่มเสรีนิยมที่ต่อต้านนายมอร์ซี

นายบาสซันท์ ฟาห์มี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคารกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับ “อนาคตอันใกล้" ของอียิปต์ เนื่องจากสิ่งแรกที่นักลงทุนสนใจคือ “เสถียรภาพ" แต่ก็เชื่อว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยุติลงและการวางแผน “ยังไม่เพียงพอ" สำหรับการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

“สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่สงบ การแต่งตั้งประธานาธิบดีชั่วคราว และการวางแผนกลยุทธ์สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนแค่ใน “ระยะสั้น" เท่านั้น สิ่งที่อียิปต์ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนในขณะนี้เพื่อกระตุ้นการลงทุนคือ “คณะรัฐบาลที่ทรงพลัง" เพื่อประโยชน์ในการวางแผนระยะยาว

“การปรับตัวขึ้นนี้เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถานการณ์ของอียิปต์ แต่การตั้งคณะรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีที่ “เชี่ยวชาญ" มีความสำคัญสำหรับนักลงทุนมากกว่าการแต่งตั้งประธานาธิบดีรักษาการ" นายฟาห์มี่ระบุและตั้งข้อสังเกตว่าคณะรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเรื่องการผลักดันนโยบาย “โดยตรง" เพื่อสนับสนุนงานของนักลงทุน และเพื่อยุติ “ความเดือดดาล" ของแต่ละกลุ่มด้วยการจัดการผลประโยชน์ให้ลงตัว

นายฟาห์มี่ยังกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ความมั่นคงจะ “ดีขึ้นกว่าเดิม" ภายหลังการหลุดพ้นจากตำแหน่งของนายมอร์ซี และคงจะเป็นเหตุผลหลักอีกอย่างหนึ่งที่ดึงนักลงทุนเข้ามา

ชีวประวัตินายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี

นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี มาจากครอบครัวเกษตรกรในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในภาคเหนือของอียิปต์ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาวัสดุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์น แคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร์ในระหว่างปี 2525-2528 ก่อนที่จะย้ายมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยซากาซิกในอียิปต์ และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยจนถึงปี 2553

นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 5 ของอียิปต์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2555 ก่อนหน้านั้นเขาเป็นสมาชิกรัฐสภาประชาชนอียิปต์ในระหว่างปี 2543-2548 และเป็นผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ก่อนที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคเสรีภาพและความยุติธรรมซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มภราดรภาพมุสลิมในปี 2554 ภายหลังเหตุการณ์ปฏิวัติทางการเมืองในอียิปต์ และเป็นตัวแทนพรรคเพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2555

วันที่ 24 มิ.ย. คณะกรรมการเลือกตั้งมีมติรับรองให้นายโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 51.73% เบียดเอาชนะนายอาห์หมัด ชาฟิค คู่แข่งคนสำคัญซึ่งได้ไปเพียง 48.27% สร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีคนแรกของอียิปต์ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบในอียิปต์จะเป็นเรื่องที่ไกลตัว และอาจจะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่ทีมข่าว In Focus ก็หวังว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายที่เริ่มต้นด้วยสถานการณ์ที่คล้ายกัน นั่นก็คือความไม่พอใจที่มีต่อผู้นำของประชาชน จะได้รับการพิจารณาโดยผู้นำรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาที่ยังคุกรุ่นอยู่ในเชิงรุก ก่อนที่จะจุดติดเป็นเรื่องราวใหญ่โตและชักใยไปสู่ความวุ่นวายในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ