เอแบโพลล์เผยปม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ดันดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง ก.ค.พุ่ง

ข่าวการเมือง Sunday August 4, 2013 10:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เอแบคโพลล์ ประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง(Political Risk) ประจำเดือน ก.ค.56 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบประเด็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองสูงที่สุดคือ 9.19 รองลงมาคือ การแทรกแซงทางการเมือง มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 8.60 ตามด้วยประเด็น พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 8.29 อันดับสี่คือ ข่าวอื้อฉาว อาทิ พฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 7.81 อันดับห้าคือ โครงการจำนำข้าว มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 7.56

เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีความเสี่ยงประจำเดือน พ.ค.56 พบว่าทุกปัจจัยมีค่าดัชนีความเสี่ยงต่อรัฐบาลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ ข่าวอื้อฉาว อาทิ พฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง จาก 5.29 มาอยู่ที่ 7.81, ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม จาก 5.13 มาอยู่ที่ 7.48, ปัญหาสังคมโดยรวม จาก 5.11 มาอยู่ที่ 7.45, ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม จาก 4.21 มาอยู่ที่ 7.21, ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก 3.29 มาอยู่ที่ 7.16, ภัยพิบัติทางธรรมชาติ จาก 4.20 มาอยู่ที่ 6.93 และการปกครองระบอบประชาธิปไตย จาก 2.57 มาอยู่ที่ 6.67

"ข้อมูลที่ศึกษาได้ในครั้งนี้พบว่าสัญญาณเตือนภัยทางการเมืองของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่น่าพิจารณาในหลายตัวชี้วัดและถือว่าเป็นความเสี่ยงทางการเมือง เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม, การแทรกแซงทางการเมือง, พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท, ข่าวอื้อฉาว อาทิ พฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง, โครงการจำนำข้าว เป็นต้น...รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งมีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองโดยรวมอยู่ที่ 7.13" น.ส.ปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ระบุ

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 85.4 คิดว่าประเด็นการพูดคุยในการประชุมสภาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า มีเพียงร้อยละ 14.6 คิดว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติมากกว่า และกลุ่มตัวอย่างส่วนมากร้อยละ 81.9 ระบุว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นภายในประเทศ

"รัฐบาลและฝ่ายการเมืองโดยรวมกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูงทุกเหตุปัจจัย โดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ประชาชนมีความกังวลว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว

กลุ่มตัวอย่างเสนอแนวทางต่อรัฐบาลให้ชะลอหรือยุติการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ออกไปก่อน ฝ่ายการเมืองที่ชอบความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจการเมืองจำเป็นต้องพิจารณาว่าอย่าถือความเสี่ยงไว้นาน โดยควรคำนึงว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยมีหน้าที่ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ไม่ใช่ยั่วยุหรือกระตุ้นเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งเสียเอง

"รัฐบาลและฝ่ายการเมืองควรมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผล ลดการโต้เถียงกันไปมาด้วยอารมณ์ ไม่แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดที่จะนำไปสู่การท้าทายผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือประชาชนทั่วไป นอกจากนี้รัฐบาลควรมีการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานและการจัดสรรงบประมาณในทุกเม็ดเงินอย่างละเอียดให้แก่สาธารณชนรับทราบเพื่อเป็นหลักการที่จับต้องได้มากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อว่า รัฐบาลทำงานโปร่งใสเพียงอย่างเดียว" น.ส.ปุณฑรีก์ กล่าว

ทั้งนี้ เอแบคโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวจากประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 2,114 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม—3 สิงหาคมที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ