ครม.รับทราบความคืบหน้าโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คันของขสมก.

ข่าวการเมือง Tuesday August 20, 2013 16:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินโครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) จำนวน 3,183 คัน เพื่อนำมาทดแทนรถโดยสารเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซลขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 เม.ย.56

ทั้งนี้ ขสมก.ได้จัดทำโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 3,183 คัน เพื่อนำมาให้บริการทดแทนรถโดยสารเดิมที่ใช้น้ำมันดีเซลตามจำนวนและประเภทรถที่มีอยู่เดิม คือ รถโดยสารธรรมดาจำนวน 1,659 คัน และรถโดยสารปรับอากาศจำนวน 1,524 คัน การใช้รถโดยสารธรรมดายังมีความจำเป็นอยู่ในส่วนของผู้ใช้บริการที่มีรายได้น้อย หรือนักเรียน นักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้ และยังต้องใช้เดินรถด้านนโยบายของรัฐ เช่น การเดินรถโดยสารฟรีเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ใช้เดินรถในช่วงเกิดภาวะน้ำท่วม ซึ่งรถโดยสารธรรมดามีความเหมาะสมกว่ารถโดยสารปรับอากาศ

ส่วนการจัดระบบเส้นทางเดินรถ และการปรับอัตราค่าโดยสาร ขณะนี้อยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคมพิจารณาดำเนินการ โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อพิจารณาศึกษากำหนดแนวทางการพัฒนาระบบรถโดยสารประจำทางโดยภาพรวมให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจัยแวดล้อมการคมนาคมขนส่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาดำเนินงานจัดทำรายงานข้อสรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ในเบื้องต้นของคณะทำงานดังกล่าว ประกอบกับในขณะนี้กระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรได้ว่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำโครงการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม โดยมีขอบเขตเนื้องานบางส่วนครอบคลุมถึงประเด็นการจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินงานบริหารจัดการระบบตั๋วโดยสาร การจัดเก็บค่าโดยสารในปัจจุบันสำหรับระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งทางบกในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การกำหนดอัตราค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะและการเชื่อมต่อ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาเฉพาะในส่วนประเด็นหัวข้อเรื่องดังกล่าวข้างต้นได้ประมาณเดือนธันวาคม 2556

สำหรับการใช้พลังงานทางเลือกนั้น ขสมก.เห็นว่า ก๊าซธรรมชาติมีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงกับรถโดยสารที่จัดหาใหม่ เนื่องจากรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติมีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในหลายประเทศ และมีใช้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก การซ่อมบำรุงรักษาจึงสามารถหาผู้ซ่อมบำรุงรถโดยสารได้ไม่ยาก ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและการซ่อมบำรุงรักษาต่ำกว่าการใช้รถโดยสารที่ใช้พลังงานทางเลือกอื่น เช่น รถโดยสารไฟฟ้า รถโดยสารใช้เชื้อเพลิง E 85 หรือ ED 95 ซึ่งยังไม่มีผู้ผลิตรถโดยสารใช้เชิงพาณิชย์ หรือถ้ามีก็มีจำนวนน้อย การจัดหาผู้ซ่อมบำรุงรักษาก็ยาก การผลิตเชื้อเพลิงยังมีข้อจำกัดและราคาสูง การใช้รถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจึงมีความเหมาะสมทั้งในด้านต้นทุนการจัดหา ต้นทุนการเดินรถโดยสาร รวมทั้งสภาพแวดล้อม

"ขสมก.ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการจัดซื้อรถโดยสารตามโครงการไปจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้" นายภักดีหาญส์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ