ประชุมกมธ.นิรโทษเครียด เสียงข้างน้อยระบุวาระแอบแฝง-เป็นกม.การเงิน

ข่าวการเมือง Friday October 25, 2013 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ในวันที่ 2 บรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด มีการถกเถียงและประท้วงกันวุ่นวาย เมื่อกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายแก้วสรร อติโพธิ ได้สอบถามความชัดเจนในมาตรา 3 ที่ระบุให้นิรโทษกรรมความผิดกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าหมายถึง ก.ก.ต.และ ป.ป.ช. ด้วยหรือไม่ เนื่องจากนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ผู้เสนอแก้ไขมาตราดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าอาจหมายรวมถึง

ด้านนายประยุทธ์ ได้ชี้แจงว่า คดีที่เกี่ยวเนื่องจากการเมืองย่อมได้รับผล แต่หากเป็นคดีส่วนตัว แม้จะเป็นคดีลหุโทษ จะไม่ได้รับอนิสงค์

นอกจากนี้ กรรมาธิการเสียงข้างน้อยจากพรรคประชาธิปัตย์ยังเรียกร้องให้พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ปรึกษา กมธ. ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารที่ลงนามแต่งตั้งองค์กรเหล่านี้ ชี้แจงว่าหมายรวมองค์กรใดบ้าง และนายวรชัย เหมะ ผู้เสนอร่างกฎหมาย เหตุใดจึงยกมือสนับสนุนร่างของนายประยุทธ์ในชั้นการแปรญัตติ โดยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเสนอร่างกฎหมายที่มีวาระแอบแฝงหรือไม่

ทั้งนี้ นายวรชัย ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องยกมือสนับสนุนร่างของนายประยุทธ์ ยืนยันการเสนอร่างกฎหมายของตนเองเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่มีวาระแอบแฝง

"ยืนยันในมาตรา 3 ไม่ได้โหวตตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก พร้อมยืนยัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีให้เอกสิทธิทุกคนในการโหวตและไม่ได้สั่งการในการลงมติ ทั้งนี้มีหลายฝ่ายที่เห็นต่าง แต่เป็นเพียงความคิด ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายต้องเข้าสู่กระบวนการสภาเป็นผู้พิจารณา"นายวรชัย กล่าว

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แสดงความเป็นห่วงมาตรา 3 ที่คณะกรรมาธิการฯเสียงข้างมากแก้ไขตามคำแปรญัตติของนายประยุทธ์ ศิริพานิช รองประธานคณะกรรมาธิการฯที่นิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่ายทั้งคดีทุจริต อาญา และครอบคลุมตั้งแต่ปี 2547 ถึง 8 ส.ค. 2556 ซึ่งจะทำให้คดีที่ก.ก.ต. ฟ้องคดียุบพรรคและป.ป.ช.ฟ้องคดีทุจริต รวมทั้งคดีที่เกิดจากดำเนินการขององค์กรที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ยุติหมด ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะเดินหน้าต่อสู้ตามกระบวนการ ทั้งการแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการและการอภิปรายในสภา

นอกจากนี้ยังยืนยันว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 143 เพราะผูกพันกับทรัพย์สินของรัฐ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ