นายกฯ แจงสภา เร่งศึกษาคำพิพากษาศาลโลก ยันไม่มีผลปย.ทับซ้อน

ข่าวการเมือง Wednesday November 13, 2013 17:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 179 โดยยืนยันว่า ตนเองไม่เคยพูดว่าจะรับคำตัดสินของศาลโลก เพียงแต่เคยพูดว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาอย่างไร รัฐบาลจะรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเหมือนเดิม ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะเร่งศึกษาคำพิพากษาภายใต้การทำงานของคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้นในการรักษาอธิปไตยของชาติ
"ยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องนี้จะไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว หรือผลประโยชน์ทับซ้อน แต่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก รวมถึงการรักษาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็น และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 190" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ยืนยันว่า ตนเองไม่เคยพูดว่าจะน้อมรับคำตัดสินของศาลโลก แต่เคยพูดว่าไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาเช่นไร รัฐบาลจะยังคงรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชาต่อไป

ส่วนข้อกังวลในมาตรา 190 ที่มีการแก้ไขส่งผลให้กรอบการเจรจาไม่จำเป็นต้องผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมสภา นายสุรพงษ์ ยืนยันว่า จะมีการนำกรอบการเจรจามาหารือและจะไม่มีผลประโยชน์ใดๆแอบแฝงโดยเด็ดขาด

นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ในส่วนข้อกังวลมาตรา 190 ที่มีการปรับแก้ไขนั้น จะทำให้การสอบถามความคิดเห็นของประชาชนขาดหายไปจริง แต่ขอยืนยันว่าในเรื่องนี้รัฐบาลจะดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงและสามารถนำเสนอความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

ส่วนข้อกังวลในเรื่องกรอบการเจรจาโดยที่ไม่ผ่านสภานั้น นายพงษ์เทพ ระบุว่า หลังจากมีการเจรจากับกัมพูชาแล้วเสร็จ ก็ต้องนำกลับมาหารือต่อในที่ประชุมสภาเพื่อขอความเห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งหากสมาชิกไม่เห็นด้วยก็สามารถคัดค้านด้วยวิธีการลงคะแนนเสียงได้

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายเรียกร้องให้รัฐบาลพูดความจริงกับประชาชน เพราะในคำตัดสินของศาลโลกตัดสินที่ออกมานั้น ต้องยอมรับว่าไทยมีความสูญเสียเกิดขึ้นจริง เพราะแม้ว่าไทยจะไม่สูญเสียพื้นที่ภูมะเขือ แต่ต้องยอมรับว่าการตีความของศาลได้กินพื้นที่ไปถึงตีนเขาของภูมะเขือ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเจรจากับทางกัมพูชาให้ชัดเจนว่าขอบเขตพื้นที่ตามศาลตีความนั้น ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ใดบ้าง

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกังวลเรื่องกรอบการเจรจาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญไทยที่มีการแก้ไข เพราะจะทำให้ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาก็ไม่มีโอกาสสามารถเสนอความคิดเห็นเพื่อไปจัดทำกรอบการเจรจาก่อนที่จะมีการไปพูดคุยกับทางกัมพูชาได้ ซึ่งเกรงว่าอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้ทบทวนและหาแนวทางที่จะเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้แสดงความคิดเห็นด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ