"นิด้าโพล" ชี้ผลสำรวจส่วนใหญ่แนะยุบสภาเป็นทางออกแก้ปัญหาความวุ่นวายทางการเมือง

ข่าวการเมือง Thursday November 14, 2013 16:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง “ทางออกของความวุ่นวายทางการเมือง กรณี ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม"
          จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับผู้ที่ควรรับผิดชอบ กรณีความวุ่นวายทางการเมือง จาก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.78 ระบุว่า เป็นรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รองลงมา ร้อยละ 15.12 ระบุว่า                          เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่ยกมือสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ร้อยละ 12.95 ระบุว่า เป็นทุก ๆ ฝ่าย ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ร้อยละ 6.03 ระบุว่า เป็นฝ่ายค้าน ร้อยละ 3.30 ระบุว่า เป็น พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร ร้อยละ 1.13 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น คณะปฏิวัติ   กลุ่มผู้ชุมนุม และร้อยละ 0.32  ระบุว่า ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ
          สำหรับความเชื่อมั่นต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะไม่นำเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม อีกต่อไป ภายหลังจากที่มีการลงนามสัตยาบรรณ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.51 เชื่อว่า จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม อีกครั้ง เพราะต้องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ได้ และที่แถลงการณ์ว่าได้ถอนร่าง พ.ร.บ. ออกมาหมดแล้ว ยังไม่เชื่อได้อย่างสนิทใจ                         เป็นการหลอกลวงประชาชน  ขณะที่ ร้อยละ 34.67 เชื่อว่า จะไม่นำเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม อีกต่อไป เพราะ รัฐบาลได้ออกมาแถลงการณ์แล้ว และเกรงว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งจนบานปลาย เนื่องจากมีผู้ออกมาร่วมชุมนุมต่อต้านเป็นจำนวนมาก และร้อยละ 16.81 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
          ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.97 ระบุว่า นายกฯ ควรยุบสภา รองลงมา ร้อยละ 25.50 ระบุว่า ให้ทุกฝ่ายยุติ รัฐบาลหยุดเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม              ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม และหันหน้าเจรจาอย่างสันติวิธี ร้อยละ 17.94 ระบุว่า ไม่มีทางออก ร้อยละ 11.58 ระบุว่า นายกฯ ควรลาออก ร้อยละ 1.61 ระบุว่า ควรปฏิรูประบอบการเมืองใหม่ ด้วยการรัฐประหาร คว่ำบาตรนักการเมือง คัดเลือกนายกฯ จากผู้ที่มีความเหมาะสม และร้อยละ 2.74 ระบุว่า อื่น ๆ เช่น ฝ่ายค้านควรทบทวนตัวเอง/ควรลาออก รัฐบาลต้องฟังเสียงข้างมาก จัดการที่ต้นเหตุ (คณะปฏิวัติ, พ.ต.ท.ทักษิณ)

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับความสมานฉันท์ในสังคมที่จะเกิดขึ้น หากตระกูลชินวัตรยุติบทบาททางการเมือง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.36 ระบุว่า น่าจะเกิดความสมานฉันท์ เพราะ เป็นต้นเหตุของความขัดแย้งทั้งหมด เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้องมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ ขณะที่ร้อยละ 39.98 ระบุว่า ไม่เกิดความสมานฉันท์ เพราะ ไม่ว่าใครก็ต้องการชิงดีชิงเด่น หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เป็นรัฐบาล ฝ่ายตรงข้ามก็จะออกมาสร้างความขัดแย้งเหมือนเดิม และร้อยละ 16.65 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

“นิด้าโพล" ได้ทำการสำรวจความเห็นในระหว่างวันที่ 12 — 13 พฤศจิกายน 2556 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,243 หน่วยตัวอย่าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ