"ปวีณา"วอนยุติความรุนแรงทกรูปแบบ ชี้เป่านกหวีดเป็นความรุนแรง ควรเคารพสิทธิ์กันและกัน

ข่าวการเมือง Saturday November 16, 2013 09:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชน วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เป็นการสัมภาษณ์ นางปวีณา หงสกุล รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เนื่องจากในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ซึ่งจะเห็นสัญลักษณ์การติดริบบิ้นสีขาว

นางปวีณา กล่าวว่า ทั้งเดือนพฤศจิกายน เป็นเดือนของการยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และ ครอบครัวทุกรูปแบบ เราทำมาตั้งแต่ปี 2534 เป็นเรื่องความเป็นมา ว่าทำไมมีการติดริบบิ้นสีขาวยุติความรุนแรง เพราะมีนักศึกษาแคนาดา ถูกสังหารหมู่ 14 คน จากนั้นมีกลุ่มอาสาสมัคร 1 แสนคน รวมตัวกันยุติความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ เป็นที่มาที่ไปที่ทำให้ทุกคนตื่นตัว

จนปี 2542 องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรี ทางเครือข่ายภาคีสหประชาชาติร่วมมือกันรณรงค์รวมทั้งประเทศไทยด้วย และในปี 2542 มติครม.ของไทยประกาศให้เดือนพ.ย.ของทุกปี เป็นเดือนยุติความรุนแรงต่อปัญหาเด็ก และสตรี ทุกรูปแบบ เราก็มีริบบิ้นสีขาวติดกันมาเป็นสิบกว่าปีนี้ เป็นเรื่องสากล เป็นเรื่องระดับชาติ เพราะจะเห็นว่าปัญหาสังคมตอนนี้มากมาย มีการตั้งศูนย์ OSCC และนายกฯก็มีนโยบายเปิดศูนย์ช่วยเหลือสังคมครบวงจร ทางกระทรวงฯก็น้อมรับนโยบาย ตอนนี้มีเครือข่าย 2 หมื่นกว่าเครือข่าย

นางปวีณา กล่าวว่า ตั้งแต่ 11 ก.ค. -13 พ.ย. มีคนร้องเรียนมาทั้งหมด 11,000 กว่าราย แยกแยะเป็นปัญหาครอบครัวเกือบ 900 ราย ซึ่งจริงๆปัญหามีมาตลอด แต่โอกาสที่จะให้เขาสามารถขอรับความช่วยเหลือมีหรือไม่ เมื่อศูนย์ OSCC เปิดแล้วเขาก็มีโอกาส มีช่องทาง เป็นทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ค้ามนุษย์ ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ตอนนี้เราอยู่ในช่วงของการติดตาม และประสานงานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเป็นผู้รับช่วงต่อ หรือปัญหาค้ามนุษย์ ก็จะมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

วันที่ 25 พ.ย.นี้ ทางกรมฯก็จะจัดกิจกรรม มีนิทรรศการ แต่วันอาทิตย์ที่ 17 พ.ย.นี้ที่สนามกีฬาธูปเตมีย์เป็นการรวมพลัง ทั้งเด็ก สตรี หรือผู้ชาย ที่จะช่วยกันติดริบบิ้นเพื่อระลึกถึงปัญหาและช่วยระวังในเจตนารมณ์ทั้งหลายที่จะดูแล ใส่ใจ ยุติความรุนแรงต่อเด็กสตรี และผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในทุกรูปแบบ ต้องเน้นย้ำว่าการยุติความรุนแรงเกิดมาตั้งแต่ปี 2542 เครือข่ายหรือภาคีก็ต้องร่วมกันในการแก้ปัญหาสังคม

นางปวีณา กล่าวต่อว่าว่า การเป่านกหวีดก็ถือว่าเป็นความรุนแรง เพราะจริงๆต้องเป็นมารยาทพอสมควร การจะมาดำเนินการทางการเมือง คิดว่าทำได้โดยเคารพสิทธิ์ ซึ่งกันและกันแต่การทำสิ่งเหล่านี้ไม่ควรทำ แต่ถ้าจะทำก็ปล่อยไป ถือว่าพระพุทธเจ้ายังมีมารผจญ เราเป็นคนธรรมดาก็ต้องยอมตรงนี้ แต่ก็ต้องระลึกถึงความถูกต้องของสังคม การอยู่กันอย่างสันติสุข การเคารพสิทธิ์ซึ่งกันและกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเคารพสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ สิทธิ์ที่จะต้องเคารพซึ่งกันและกัน สิทธิ์ที่จะยุติความรุนแรง จะต้องมี 365 วัน เราต้องให้เด็กๆได้รับรู้ ในการดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างผาสุก ไม่ริดลอนสิทธิคนอื่น เราขอรณรงค์ให้ประชาชนทุกคนร่วมกัน จับมือกันและเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในทุกรูปแบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ