"วราเทพ"เผยรัฐบาลเตรียมหารือสำนักราชเลขาธิการหาทางออกกรณีร่างแก้ไข รธน.

ข่าวการเมือง Thursday November 21, 2013 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงขั้นตอนทางกฎหมายในกรณีของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และรัฐบาลได้นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วว่า ปัญหาในกรณีดังกล่าวนี้เพิ่งจะเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ดังนั้น คงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งคงต้องให้กระบวนการย้อนกลับไปสู่จุดที่เริ่มต้นคือรัฐสภาว่าจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร เนื่องจากไม่ใช่กฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาล

สำหรับขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ นั้น ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีคงจะได้ประสานกับทางสำนักราชเลขาธิการเป็นการภายในก่อน

"ยังไม่อยากพูดอะไรไปล่วงหน้า เพราะจะทำให้เกิดความสับสน และมีการนำไปขยายผลในทางการเมือง" นายวราเทพ ระบุ

กรณีที่ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรในขณะนี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าเมื่อเกิดกรณีนี้ขึ้นแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องดำเนินการอย่างไร ดังนั้นคงต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้รอบคอบก่อน

ส่วนที่เกรงกันว่ากรณีนี้จะส่งผลถึงการออกกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่มีผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ เช่น ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท นายวราเทพ กล่าวว่า ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ได้มีการกำหนดไว้ว่าจะไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้หากมีผู้ร้องต่อศาล แต่กรณีของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.ซึ่งเป็นปัญหากันอยู่นี้ไม่ได้ข้อกำหนดไว้ แต่เป็นการกำหนดว่าให้นายกรัฐมนตรีต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วันหลังจากที่กฎหมายผ่านสภาฯ

นายวราเทพ ยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ขอเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการให้เหมือนกับตอนที่เป็นรัฐบาล และมีพรรคพลังประชาชนเป็นฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งฝ่ายค้านในสมัยนั้นได้แจ้งหัวข้อให้สภาฯ ได้ทราบก่อน เพื่อให้การประชุมอยู่ในกรอบประเด็นที่จะอภิปราย และการอภิปรายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

"สิ่งที่ประชาธิปัตย์ทำ ถูกมองว่าเป็นการชิงความได้เปรียบ แต่ขณะเดียวกันจะทำให้การประชุมเกิดปัญหา หากไม่มีการแจ้งหัวข้อมาให้ทราบก่อน เพราะประธานฯจะไม่สามารถควบคุมการประชุมให้อยู่ในกรอบได้" นายวราเทพ กล่าว

พร้อมชี้แจงว่า สาเหตุที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ท้วงติงฝ่ายค้านและขอให้แจ้งหัวข้อที่จะอภิปรายมาให้ทราบก่อนนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่มีการกำหนดเงื่อนไขนี้ไว้ ทำให้การควบคุมประเด็นของการอภิปรายทำได้ยาก ดังนั้นในประเด็นนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการแก้ไขข้อบังคับเรื่องการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในอนาคต

นายวราเทพ คาดว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน ซึ่งน่าจะเริ่มต้นได้ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 พ.ย.นี้ ไปจนถึงไม่เกินเที่ยงคืนของวันที่ 27 พ.ย. โดยเชื่อว่าระยะเวลาคงจะเพียงพอกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ