สนง.สถิติฯเผย ต.ค.56 มีผู้ว่างงาน 2.3 แสนคน แนวโน้มคนจบใหม่หางานยากขึ้น

ข่าวการเมือง Tuesday December 10, 2013 18:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) เผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของคนไทยในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่า จากจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด 38.39 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 38 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.37 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.3 หมื่นคน

โดยผู้ที่มีงานทำจะอยู่นอกภาคเกษตรเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 25 ล้านคน ทั้งด้านการผลิต ขนส่ง ค้าส่ง ค้าปลีก ส่วนผู้ที่ทำงานในภาคเกษตรมีประมาณ 12.8 ล้านคน

สำหรับจำนวนผู้ว่างงานในเดือน ต.ค.มีทั้งสิ้น 2.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นคน แต่ลดลงจากเดือน ก.ย. โดยเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 9 หมื่นคน ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากที่สุด 8.3 หมื่นคน และภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุด 0.8%

ก่อนหน้าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ได้รายงานภาวะสังคมไตรมาส 3 ปี 2556 โดยระบุว่าเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ชะลอตัว สถานประกอบการลดตำแหน่งงานในธุรกิจ ประกอบกับการมีแรงงานใหม่เข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แรงงานหางานได้ยากขึ้น โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาใหม่และเข้าสู่ตลาดแรงงาน

โดยจำนวนผู้สมัครงานไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 102.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้นเพียง 12.9% ขณะที่ไตรมาส 2พบว่ามีผู้สมัครงานมากกว่าตำแหน่งงาน 1.3 เท่า ผู้สมัครงาน 10 คน นายจ้างจะรับเข้าทำงาน 5 คน จากเดิมรับเข้าทำงาน 8 คน เพราะนายจ้างคัดเลือกคนมากขึ้น เนื่องจากผลกระทบค่าแรง 300 บาท

การชะลอตัวของเศรษฐกิจ กิจการมีการปรับลักษณะการจ้างงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงการชะลอการขยายตำแหน่งงาน ส่งผลให้การว่างงานของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 32.6% หรือ 1.49 แสนคน ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 32.2% หรือ 1.56 แสนคน ส่วนหนึ่งเป็นผู้จบการศึกษาใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้มีผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวน 1.34 แสนคน เพิ่มขึ้น 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นกรณีลาออก 1.17 แสนคน เพิ่มขึ้น 11.4% และกรณีถูกเลิกจ้างจากการปิดกิจการและลดการจ้างพนักงาน 1.72 หมื่นคน เพิ่มขึ้น 3.6%

ขณะที่นโยบายการปรับค่าจ้างแรงงาน 300 บาท และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานเอกชนที่เคยทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีจำนวนลดลง 19.6% เนื่องจากสถานประกอบการปรับเปลี่ยนลักษณะการผลิต

สศช.ยังรายงานว่า อัตราว่างงานไตรมาส 3 เพิ่มเป็น 0.77% จาก 0.58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีผู้ว่างงาน 3.05 แสนคน แต่กลับพบว่าจำนวนกำลังแรงงานลดลง 0.9% หรือมีกำลังแรงงาน 39.5 ล้านคน เพราะมีปัญหาเชิงโครงสร้างประชากร แรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปเข้าสู่ตลาดแรงงานช้า โดยกำลังแรงงานอายุ 15-24 ปี ลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ