(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์แจง ศอ.รส.ระบุการชุมนุมกระทบเศรษฐกิจโค้งสุดท้าย-คลังห่วงเก็บภาษีพลาดเป้า

ข่าวการเมือง Thursday December 19, 2013 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวภายหลังหารือของหน่วยงานเศรษฐกิจถึงผลกระทบของการชุมนุมต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ และศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัดจนอาจกระทบการสร้างรายได้เข้าประเทศ ประกอบกับ ภาวะเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ต้นปี ทำให้การลงทุนลดลง รวมทั้ง ความล่าช้าจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในเดือน ม.ค.ปีหน้า

ทั้งนี้ หากการชุมนุมยืดเยื้อ อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งภาครัฐจะพยายามเร่งรัดการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับนักลงทุน เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากจะเห็นในปี 2557 คือเศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ประมาณการที่คาดการณ์ไว้ในส่วนหน่วยงานภาครัฐ ก็คาดว่าในปี 57 น่าจะเติบโตได้ 4-5% ซึ่งในการที่จะทำให้ได้ตามที่คาดการณ์นั้นมีความต้องการใน 4 เรื่อง คือ

1. ความต่อเนื่องในการผลักดันโครงการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการขนส่ง ซึ่งขณะนี้โครงการลงทุนของภาครัฐมีส่วนสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบถนน ระบบราง เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับภาคเอกชน ที่เป็นสิ่งที่มีความต้องการมาก เพราะจะทำให้ลำดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยสามารถปรับตัวดีขึ้น

2. ภาคการส่งออก ที่ในปี 2556 เศรษฐกิจโลกไม่ค่อยเอื้ออำนวย จึงคาดว่าในปีนี้ตลอดทั้งปีการส่งออกของไทยจะไม่โต อย่างไรก็ตามในปี 2557 ก็อยากให้การส่งออกของไทยสามารถส่งออกได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาหลังจากวิกฤตอุทกภัย ไทยส่งออกได้ค่อนข้างน้อย ฉะนั้นในปี 2557 ความต่อเนื่องหรือการผลักดันจากมาตรการของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนราชการหรือคณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามารับภาระหน้าที่ในเรื่องการผลักดันมาตรการส่งเสริม หรือการเปิดตลาดสู่ตลาดส่งออกใหม่ ๆ จะทำให้มีรายได้เม็ดเงินจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย และส่งผลต่อการจ้างงานด้วย

3. เรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีตัวเลขเป้าหมาย ตัวเลขยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นมามากกว่าปกติ ที่เป็นผลจากความมีเสน่ห์ และเรื่องของความดึงดูดแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการที่ภาครัฐได้เข้าไปส่งเสริมการขยายตลาดต่างประเทศ ทำให้การท่องเที่ยวไทยเติบโต 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากรักษาไว้เพราะเป็นเม็ดเงินค่อนข้างมากเกือบ 10% ของ GDP

4. เรื่องการบริโภคของประชาชน ซึ่งดูจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจะเห็นภาวะเห็นสัญญาณการชะลอตัวลง ฉะนั้นสิ่งที่จะสร้างความมั่นใจให้เกิดการบริโภคและเศรษฐกิจเติบโต รวมทั้งการกระจายรายได้ไปสู่ภาคชนบทก็คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจก็อยากจะให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถมีข้อยุติโดยเร็ว และมีรัฐบาลที่สามารถเข้ามาดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่เป็นเศรษฐกิจพื้นฐาน และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนรวมทั้งนักลงทุนจากต่างชาติ ให้เกิดความมั่นใจในเรื่องของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย

ด้านนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 57 ได้มีการตั้งเป้าไว้ถึง 2.75 ล้านล้านบาท ตรงนี้จะเห็นว่าเป็นตัวเลขที่สูงซึ่งจะนำมาใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ กระทรวงการคลังชี้แจงว่าการจัดเก็บภาษีของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมสรรพกร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากรในช่วงเดือนตุลาคมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้า แต่ในเดือนพฤศจิกายนที่มีเหตุการณ์ไม่ปกติทำให้การจัดเก็บภาษีพลาดเป้าไปบ้าง

ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2557 (ต.ค.-พ.ย.56) สามารถจัดเก็บรายได้เพียง 325,530 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 9,100 กว่าล้านบาท หรือประมาณ 2.8 สะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศมีการชะลอตัวลง ผู้บริโภคไม่กล้าที่จะใช้จ่ายเงินมาก ทำให้การจัดเก็บภาษีได้น้อยลง ขณะที่การนำเข้าและการลงทุนก็ชะลอการลงทุนด้วย ส่งผลให้ตรงนี้จัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ในเดือน พ.ย.มีหน่วยงานอื่นที่จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย คือ การนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และ รายได้จากการต่ออายุค่าสัมปทานของการผลิตปิโตรเลียม ทำให้รายได้ตรงนี้มาช่วยในส่วนของภาษีที่จัดเก็บไม่ได้ตามเป้าหมาย

แต่หากเหตุการณ์การชุมนุมยังยาวนานไปอีก หรือไม่ยุติในเวลาอันรวดเร็ว เป้าหมายการจัดเก็บจัดรายได้ของกระทรวงการคลัง และของประเทศ อาจจะได้รับผลกระทบ เพราะในเดือนพ.ย.นักลงทุนต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาลงทุน ขณะที่ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้นำเข้า-ส่งออก ก็ไม่กล้าที่จะสั่งสินค้าเข้ามา เพราะไม่แน่ใจในสถานการณ์ เหตุการณ์ในประเทศไทย ทำให้ภาษีที่กรมศุลกากรจัดเก็บได้จากการนำเข้าสินค้าลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่วนนักลงทุนทั้งของไทยและต่างประเทศนั้น ได้ชะลอการลงทุนไปด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าการลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

นอกจากนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจัดเก็บจากการบริโภคและการใช้บริการภายในประเทศ ในเดือนพ.ย. 56 ลดลงถึง 4,500 ล้านบาท หรือประมาณ 7.3% รวมถึงอากรขาเข้าที่จัดเก็บในเดือนพ.ย. 56 จัดเก็บได้เพียง 8,800 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีที่แล้วในช่วงเดียวกัน 1,600 ล้าน ประมาณ 15%

"ถือเป็นภาระอันใหญ่หลวงที่เราจะต้องเก็บภาษีให้ได้ 2.275 ล้านล้านบาท ซึ่งหวังว่าถ้าเหตุการณ์ไม่ปกติยุติลงโดยเร็ว มีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศ ก็จะทำให้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและประชาชนที่จะใช้จ่ายและบริโภคได้ ซึ่งจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย และนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ